xs
xsm
sm
md
lg

เอกชน 162 รายเข้าร่วมลดใช้ไฟรับ JDA หยุดซ่อม 21-25 ก.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกพ.ขอความร่วมมือผู้ใช้ไฟฟ้า 14 จังหวัดภาคใต้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วง JDA-A18 หยุดซ่อม ในระหว่างวันที่ 21-25 กรกฎาคมนี้ พร้อมทั้งเดินหน้าสานต่อโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า หรือ DR ที่ล่าสุดมีเอกชนเสนอเข้าร่วม 162 ราย ลดใช้ไฟ 48.84 เมกะวัตต์

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 2/2558 ว่า หลังจากเตรียมความพร้อมในการลดการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ที่อาจจะได้รับผลกระทบไฟฟ้าไม่เพียงพอในช่วงแหล่งก๊าซ JDA-A18 หยุดผลิต 5 วัน คือระหว่างวันที่ 21-25 กรกฎาคม 2558 ซึ่งได้เลื่อนจากกำหนดเดิมคือ วันที่ 19-23 กรกฎาคม 2558 เนื่องจากการขนถ่ายอุปกรณ์เพื่อเข้าซ่อมในพื้นที่ประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยจากการเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ได้มีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 162 ราย เสนอลดสูงสุดจำนวน 48.84 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ วันที่ 13 ก.ค. 58)

สำหรับโครงการ Demand Response ในครั้งนี้ กกพ.ขอให้ประชาชนและภาคเอกชนลดใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลา 18.30-21.30 น. (3 ชั่วโมง) ในระหว่างวันที่ 21-25 กรกฎาคม 2558 และคาดหวังว่าโรงงาน และผู้ประกอบการ ที่สมัครเข้าร่วมโครงการ จะลดใช้ไฟฟ้าตามที่แจ้งไว้ หากทำได้ก็จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าในภาคใต้และลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการกำเนิดไฟฟ้าระหว่างที่ก๊าซฯ ขาดแคลน สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ Demand Response ในครั้งนี้จะได้รับเงินชดเชยที่อัตรา 3.40 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนหน่วยสุดท้ายในการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในช่วงที่ระบบมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด

โดยในช่วงที่แหล่ง JDA-A18 หยุดผลิตนั้น กฟผ.แจ้งว่ากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ รวมการส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งจากภาคกลางจะเหลือเท่ากับ 2,828 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในภาคใต้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 2,350 เมกะวัตต์ตามมาตรฐาน และระบบส่งสามารถรองรับมาตรฐานความมั่งคงได้ทุกกรณี
สำหรับการจัดสรรกำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในภาคใต้ กฟผ.ได้เตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทุกโรง โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าต่ำสุดของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องได้ในภาคใต้อยู่ที่ 2,138 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ได้เตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่ (น้ำมันเตา) และโรงไฟฟ้าจะนะชุด 1 (น้ำมันดีเซล) รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกินกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าต่ำสุด โดยมีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าทั้งสองโรงเท่ากับ 4.14 บาทต่อหน่วย และ 4.17 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ โครงการ Demand Response ครั้งที่ 2/2558 จึงได้กำหนดเป้าหมายการลดการใช้กำลังไฟฟ้าไว้ที่ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้ากระบี่ และโรงไฟฟ้าจะนะได้
กำลังโหลดความคิดเห็น