xs
xsm
sm
md
lg

กกพ. ระดมผู้ใช้ไฟ 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมโครงการในช่วงแหล่งก๊าซ JDA - A18 หยุดซ่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เดินหน้าสานต่อโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 2/2558 ช่วง JDA-A18 หยุดซ่อม ในระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคมนี้ กระตุ้นเอกชนร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง จูงใจค่าชดเชย 3.40 บาทต่อหน่วย ตั้งเป้าลดใช้ไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ มั่นใจรับมือไฟดับภาคใต้

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ. เดินหน้าโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 2/2558 โดยเตรียมความพร้อมในการลดการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ที่อาจจะได้รับผลกระทบไฟฟ้าไม่เพียงพอในช่วงแหล่งก๊าซ JDA-A18 หยุดผลิต 5 วัน คือ ระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2558

โดยกำหนดเป้าหมายของหน่วยไฟฟ้าที่จะลด 100 เมกะวัตต์ และเป้าหมายการรับสมัคร 200 เมกะวัตต์ และได้เห็นชอบอัตราชดเชย 3.40 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาที่เตรียมรองรับความต้องการในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด โดยได้เชิญการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เข้าร่วมเตรียมความพร้อมในการดำเนินโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 2/2558 ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ในช่วงแหล่ง JDA-A18 หยุดผลิตนั้น กฟผ. แจ้งว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ รวมการส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งเชื่องโยงภาคกลาง-ภาคใต้ จะเหลือเท่ากับ 2,828 เมกะวัตต์ ซึ่งมั่นใจว่าเพียงพอที่จะรองรับความต้องการสูงสุดในภาคใต้ คาดว่าจะเท่ากับ 2,350 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ในมาตรฐานและระบบส่งสามารถรองรับมาตรฐานความมั่งคงได้ทุกกรณี

สำหรับการจัดสรรกำลังผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการในภาคใต้ กฟผ. ได้เตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทุกโรง โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าต่ำสุดของโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องในภาคใต้อยู่ที่ 2,138 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ได้เตรียมน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่ (น้ำมันเตา) และโรงไฟฟ้าจะนะชุด 1 (น้ำมันดีเซล) รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยมีต้นทุนส่วนเพิ่มจากการเดินโรงไฟฟ้าทั้ง 2 โรงเท่ากับ 4.14 บาทต่อหน่วย และ 4.17 บาทต่อหน่วย ตามลำดับ โครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 2/2558 จึงได้กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนส่วนเพิ่มจากการเดินโรงไฟฟ้ากระบี่ และโรงไฟฟ้าจะนะ

นายวีระพล กล่าวว่า คาบเวลาที่กำหนดให้มีการดำเนินมาตรการ Demand Response ในครั้งนี้ วันและเวลาที่จะร้องขอให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ลดการใช้ไฟฟ้า คือ ช่วงเวลา 18.30-21.30 น. (3 ชั่วโมง) ในระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2558 ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าของ กฟผ. หรือ กฟภ. ประเภท 3 กิจการขนาดกลาง ประเภท 4 กิจการขนาดใหญ่ และประเภท 5 กิจการเฉพาะอย่าง ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย กระบี่ ตรัง ชุมพร นราธิวาส นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ ปัตตานี พังงา ระนอง ยะลา ภูเก็ต สตูล สงขลา และสุราษฎร์ธานี ที่มีมิเตอร์ที่สามารถบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ทุก 15 นาที เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 31 วัน โดยต้องลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงวันเหตุการณ์ สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการสามารถกรอกใบสมัคร และยื่นข้อเสนอลดกำลังการใช้ไฟฟ้ากับการไฟฟ้าแต่ละแห่ง (กฟผ. หรือ กฟภ.) ที่ผู้สมัครเป็นลูกค้าได้ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2558 นี้

 
ทั้งนี้ การไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งจะทำหน้าที่รวบรวมปริมาณความต้องการใช้กำลังไฟฟ้าของผู้ร่วมโครงการให้ได้ตามเป้าหมายที่ระบบต้องการ (Load Aggregator) โดยเป็นผู้เชิญชวน และรับสมัครผู้ร่วมโครงการ ทำการวัดและคำนวณผลการลดกำลังการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ กกพ. ยังได้เห็นชอบให้รับซื้อปริมาณพลังไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ในภาคใต้ที่ใช้เชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน โดยรับซื้อปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุดส่วนเกินจากสัญญา และที่มีศักยภาพในการจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบในช่วงเวลา 18.30-21.30 น. ระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคมนี้ โดยกำหนดอัตรารับซื้อเป็นอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งรวมค่า Ft ขายส่งเฉลี่ย โดยไม่ได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder)

นายวีระพล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 1/2558 ที่ได้ดำเนินการในช่วงเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ใช้ไฟฟ้าถึง 851 ราย สามารถลดการใช้พลังไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 553.76 เมกะวัตต์ และลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 10.91 ล้านหน่วย คิดเป็นค่าชดเชย 21.96 ล้านบาท หรือประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้าเท่ากับ 41.10 ล้านบาท เท่ากับผลประหยัดจากการดำเนินโครงการเท่ากับ 19.14 ล้านบาท หรือคิดเป็น Ft ที่ประหยัดได้เท่ากับ 0.03 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ กกพ. ได้ให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการกำลังการใช้ไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุด ในการที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนเป็นสำคัญ โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า (Demand Response) ครั้งที่ 2/2558 เพิ่มเติมได้ที่ www.erc.or.th หรือ โทร.1204

 
นอกจากนี้ สำหรับประเด็นเกี่ยวกับข้อจำกัดการดำเนินงานพลังงานหมุนเวียนนั้น นายวีระพล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรณีข้อจำกัดในการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์) ในประเด็นการหยุดรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Adder ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 นั้น ปัจจุบันได้ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอยกเลิก และคำขอขายไฟฟ้าใหม่เพื่อเปลี่ยน จาก Adder เป็น FiT สำหรับโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว หรือโครงการที่ได้รับอนุมัติตอบรับซื้อในปี 2557 จากวันที่ 31 มีนาคม 2558 เป็น 31 กรกฎาคม 2558 แล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อรวบรวมปัญหา และข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้า สำนักงาน กกพ. ได้จัดเตรียมการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ขึ้น และขอความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อที่สำนักงานจะได้รวบรวมประเด็นต่างๆ และพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น