อ่างทอง - เกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งในพื้นที่ตำบลคลองวัว อำเภอเมืองอ่างทอง ยิ้มหน้าบานหลังฝนตกหนัก ส่งผลทำให้เป็ดได้ลงเล่นน้ำ และได้กินอาหารตามธรรมชาติ จนออกไข่มากขึ้นแถมได้ไข่ฟองใหญ่กว่าเดิม ขณะที่ ผอ.สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่อ่างทองติดตามโครงการจัดหา และพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลช่วยเกษตรกร
วันนี้ (30 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรที่ทำการเลี้ยงเป็ดในพื้นที่ตำบลคลองวัว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ต่างดีใจเป็นอย่างมากหลังจากที่ช่วงนี้มีฝนตกลงมา เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความชุ่มชื้นแล้ว น้ำในลำห้วย รวมทั้งหนองน้ำต่างๆ เริ่มมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นแทบทุกแห่งด้วย ทำให้เกษตรกรที่เลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งได้พากันปล่อยเป็ดลงเล่นน้ำ และหาอาหารกินตามธรรมชาติ ทำให้เป็ดอารมณ์ดี หายเครียด มีร่างกายแข็งแรง ออกไข่ได้มากขึ้น
นายสำรวย มีแตร อายุ 60 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ 4 ตำบลคลองวัว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง เกษตรกรผู้เลี้ยงเป็ด เผยว่า หลังจากมีน้ำให้เป็ดได้ลงว่ายเล่น และหาอาหารกินตามธรรมชาติ ทำให้เป็ดของตนเริ่มออกไข่ดกขึ้น แถมมีฟองโตกว่าหน้าแล้งเป็นอย่างมาก ซึ่งปกติในช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ตนต้องลงทุนสูบน้ำจากที่อื่นมาให้เป็ดลงเล่นน้ำทำให้ค่าใช้จ่ายสูงมาก แถมเป็ดก็ไม่ค่อยจะออกไข่ ตนจึงจำเป็นต้องขายเป็ดในราคาต่ำกว่าต้นทุนคือ ในราคาตัวละ 30 บาท แต่ตอนที่ไปหาซื้อมาในราคาตัวละ 110 บาท
“เมื่อก่อนผมเลี้ยงเป็ดไข่มากกว่า 700 ตัว ตอนนี้เหลือเอาไว้แค่กินไข่ประมาณ 50 ตัว แต่ถ้ามีน้ำฝนตกลงมาอย่างนี้เป็นประจำผมก็จะไปหาซื้อเป็ดมาเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าหลังจากที่มีฝนตกลงมาทำให้เป็ดอารมณ์ดี มีอาหารธรรมชาติกิน ทำให้เป็ดออกไข่วันละกว่า 30-40 ฟอง แถมฟองใหญ่กว่าเดิมอีกด้วย” นายสำรวย กล่าว
นางประนอม อินทสิทธิ อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ 4 ตำบลคลองวัว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง ชาวสวนผักกล่าวว่า ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ชาวนา ชาวสวนต่างลืมตาอ้าปากได้กันบ้างหลังจากที่มีฝนตกลงมาทำให้แปลงผักของตนได้ชุ่มชื้นเพราะตนทำนาก็ขาดทุน จึงหันมาปลูกผักพื้นบ้านขายในหมู่บ้าน เช่น ถั่วฝักยาว ฟัก แฟง และมะเขือ ถึงจะได้ไม่มากแต่ก็พอจะได้ค่ากับข้าวไปวันๆ
วันเดียวกัน นายกุศล โชติรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 8 ราชบุรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ และติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งระยะเร่งด่วน ที่บริเวณบ้านวังนาค หมู่ 3 ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง หลังได้นำเครื่องจักรเจาะบ่อน้ำบาดาลขนาดความกว้าง 6 นิ้ว โดยขุดเจาะลึกลงไปจากผิวดินที่ 58 เมตร ทำให้เกษตรกรสามารถสูบน้ำขึ้นนาหล่อเลี้ยงต้นข้าวได้ครอบคลุมพื้นที่นาข้าวได้จำนวนกว่า 400 ไร่
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดัดแปลง และประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาเพื่อใช้เป็นตัวทดน้ำ ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลดลงหลายเท่าตัว นอกจากนี้ ยังช่วยลดกำลังเร่งของเครื่องยนต์ที่ใช้ในการสูบน้ำยังคงได้ปริมาณน้ำเพื่อเข้าพื้นที่นาเท่าเดิม ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการใช้น้ำมันในการสูบน้ำจากบ่อบาดาลได้เป็นอย่างดี