xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือแนะรัฐใช้ยาแรงแก้ระบบรถโดยสารสาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลำปาง - เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือเปิดเสวนาผ่าทางตันระบบรถโดยสาร ยกกรณีอุบัติเหตุจักรพงษ์ทัวร์ที่จังหวัดลำปางผ่านไปสองเดือนผู้เสียหายยังไม่ได้รับการเยียวยา แนะให้ใช้ยาแรงถึงขั้นถอนสัมปทาน

ที่โรงแรมลำปางเวียงทอง สภาผู้บริโภคภาคเหนือกว่า 300 คนได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง “ผ่าทางตันระบบรถโดยสารสาธารณะ” โดยได้มีการหยิบยกกรณีการเกิดอุบัติเหตุหมู่เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 58 รถทัวร์ของบริษัทจักรพงษ์ทัวร์ได้วิ่งฝ่าสัญญาณไฟแดงบริเวณแยกป่าขามกลางเมืองลำปางพุ่งชนรถตู้นักเรียน รถยนต์ส่วนตัวของชาวบ้าน และชนบ้านอีก 3 หลัง เป็นเหตุมีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 50 ราย โดยมีสาหัส 8 ราย ซึ่งกรณีดังกล่าวผ่านมา 2 เดือนแต่ปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับการเยียวยาแต่อย่างใด ภาระทั้งหมดยังคงตกอยู่กับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทุกคน

การเสวนาได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นายพัฒนศักดิ์ มงคลปัญญา ผู้อำนวยการสำนักงาน คปภ.ภาค 1 เชียงใหม่ ดร.สุเมธ องกิตตกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นายณัฐพงศ์ บุญตอบ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย นางสาวบุญยืน ศิริธรรม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และนายถาวร เหรียญตระกูลชัย ขนส่งจังหวัดลำปาง รวมทั้งผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุทางถนนอันเกี่ยวกับการนั่งโดยสารรถสาธารณะ กว่า 300 คน มาร่วมแลกเปลี่ยนและร่วมกันเสนอข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบรถโดยสารของไทยให้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค

จากการเสวนาพบว่าประชาชนทั่วไปรวมถึงผู้ประสบเหตุยังไม่มีความรู้เรื่องการใช้สิทธิตามประกันภัยภาคบังคับ และภาคสมัครใจ ทำให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการและบริษัทประกันภัย ทำให้ประสบเหตุต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้เอง

ในเรื่องนี้ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้เสนอให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ยาแรง เนื่องจากอุบัติเหตุที่ผ่านมาจะพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากคนขับ และสภาพรถเป็นส่วนใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาและเป็นการยกระดับระบบรถโดยสารของไทยให้ดีขึ้นจึงได้เสนอ 4 มาตรการ คือ 1. ยกระดับคนขับให้เป็นวิชาชีพเนื่องจากต้องดูแลชีวิตของผู้โดยสารจำนวนมาก 2. มาตรฐานยานพาหนะ ต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทั้งระยะใกล้ ระยะไกล ซึ่งมีผู้เสริมให้มีการตรวจสอบรายวันเพื่อจะได้รู้ถึงปัญหาของรถและแก้ไขได้ทัน 3. หน่วยงานที่กำกับดูแลต้องเข้มงวดไม่ละเลย และ 4. ให้ยกเลิกการสัมปทานที่เอื้อต่อการผูกขาด

“ในเรื่องการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย หากมีรถเถื่อน มีอุบัติเหตุซ้ำซากในพื้นที่ รัฐควรมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแล และมีมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันและกระตุ้นเจ้าหน้าที่ด้วย หากผู้ประกอบการไม่แก้ไขก็ให้เพิกถอนสัมปทานไปเลย”

ดร.สุเมธ องกิตตกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การเยียวยาผู้ประสบเหตุตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท ทุพพลภาพหรือเสียชีวิตไม่เกิน 200,000 บาท เป็นวงเงินที่ไม่เหมาะสมสำหรับกรณีที่บาดเจ็บร้ายแรงหรือเสียชีวิต ควรเพิ่มวงเงินเป็นให้รักษาพยาบาลตามจริงไม่เกิน 150,000 บาท และกรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิตควรเป็น 1 ล้านบาท

นางมยุเรศ แลวงศ์นิล ผู้จัดการสมาคมชีวิตดีจังหวัดลำปาง ได้เสนอ 3 เรื่อง คือ 1. ต้องปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองเบื้องต้น (พ.ร.บ.) ให้มากกว่าปัจจุบัน และต้องแยกค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าชดเชยทุพพลภาพหรือเสียชีวิต 2. ต้องให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันทำ พ.ร.บ.ภาคสมัครใจ โดยต้องเพิ่มวงเงินประกันภัยสูงสุด จาก 10ลัานบาท/ครั้ง เป็น 30 ล้านบาท/ครั้ง หากบริษัทไหนไม่มีก็ห้ามไม่ให้ออกบริการ และ3. ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและประเมินคุณภาพการให้บริการรถโดยสารเพื่อความปลอดภัย

ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงศ์ ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน ได้ระบุว่า กรณีของบริษัท จักรพงษ์ทัวร์ จำกัด พบว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมาได้เกิดอุบัติเหตุใหญ่ทุกปี ปีละ18 ครั้ง รวม 4 ปีมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 144 คน เสียชีวิต 15 ราย ซึ่งสาเหตุยังคงเป็นเรื่องของคนขับรถ เนื่องจากคนขับรถขับรถระยะทางไกลเกินที่กำหนด ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียเหนื่อยล้า การตัดสินใจผิดพลาด และสภาพรถ ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานกว่า 30 ปี อุปกรณ์ด้านป้องกันความปลอดภัยใช้งานไม่ได้ โดยเฉพาะระบบเบรกที่ชำรุด ซึ่งภาครัฐควรให้ความสนใจและใส่ใจระบบประเมินให้มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น