นครปฐม - ทีมบริหารโรงงานดีโด้นำสื่อมวลตรวจสอบระบบบำบัดน้ำในโรงงานก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แจงเคยเกิดปัญหาบริษัทก่อสร้างสูบน้ำออกจริง แต่เป็นน้ำใช้ในแคมป์คนงาน ส่วนน้ำเสียจากกระบวนการผลิตมีค่ามาตรฐานตามกฎหมาย โต้ปัญหาน้ำด้านหน้าไม่ใช่ถูกปล่อยจากโรงงาน ที่ประชุมเสนอทางออก เยียวยา 25 ผู้เสียหาย
วันนี้ (26 ก.ค.) น.ส.จันทรา พงศ์ศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟู้ดสตาร์ จำกัด เลขที่ 58 หมู่ 6 ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม ที่ตั้งโรงงานน้ำผลไม้ตราดีโด้ พร้อมผู้บริหาร แถลงข่าวชี้แจงกรณีชาวบ้านใน ต.ตลาดจินดา อ.สามพราน จ.นครปฐม รวมตัวปิดประตูทางเข้าออกโรงงาน กล่าวหาว่า เป็นต้นเหตุทำให้น้ำในลำรางหนองน้ำใส ซึ่งเป็นคลองสาธารณะมีกลิ่นเหม็น และมีสารพิษเจือปน ส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายต่อเนื่องนานหลายเดือน โดยตอบข้อสงสัยและอธิบายการดำเนินการของโรงงานต่อชุมชน และการบำบัดน้ำเสีย
น.ส.จันทรา กล่าวว่า ขอยืนวันว่าบริษัทดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญต่อการบำบัดน้ำเสีย ลงทุนเครื่องมือ และเครื่องจักรตามมาตรฐานสากล โดยมีการบำบัดแบบ Activeed Sludge : AS ซึ่งเป็นกระบวนการบำบัดทางชีวภาพแบบใช้ออกซิเจน อาศัยจุลินทรีย์ในการย่อยสลาย ดูดซับสารอินทรีย์ในน้ำเสียให้มีค่าความสกปรกน้อยลง ซึ่งเป็นระบบบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 85-95% สำหรับการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน และโรงงานอุตสาหกรรม
โดยมีผลการพิสูจน์ค่ามาตรฐานน้ำจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครปฐม และตลอด 20 ปีได้มุ่งมั่นปรัชญาเพื่อผู้บริโภค และพร้อมเจรจากับแกนนำชาวบ้านเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน แต่ขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย เพราะบริเวณใกล้เคียงก็มีโรงงานหลายแห่ง ควรจะตรวจสอบทั้งหมดด้วย ในส่วนของเรายินดีให้มีการตรวจสอบตามขั้นตอนทางกฎหมาย
นายจิระศักดิ์ ยั่งยืน ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลและธุรการ กล่าวว่า ชาวบ้านปิดล้อมทางเข้าออกของโรงงานวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นเวลา 19.00 น. ได้มีชาวบ้านนำรถตักดินมากลบปิดทางระบายน้ำของโรงงาน ซึ่งต้องใช้เวลาเจรจากว่า 5 ชั่วโมง จึงได้ยอมเปิดทางระบายน้ำให้ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มจากเมื่อเดือน เม.ย.58 ดีโด้มีการขยายโรงงาน และได้ว่าจ้างบริษัท เตชัส จำกัด มาก่อสร้าง โดนเกิดฝนตกลงมาอย่างหนัก หัวหน้าคนงานจึงถือวิสาสะสูบน้ำออกจากแคมป์พักคนงานลงสู่คลองโดยตรง ซึ่งเป็นน้ำที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการผลิตน้ำผลไม้จากโรงงาน ทำให้มีชาวบ้าน 3 ราย ทำเรื่องร้องเรียนว่า มีน้ำเสียออกจากโรงงาน ได้มีการเจรจาชดเชยให้ 3 รายไปแล้ว 1 ราย อีก 2 รายยังไม่สามารถตกลงกันได้ อยู่ในระหว่างการเจรจา
“การปิดทางระบายน้ำของโรงงานวันที่ 16 ก.ค. พบว่า ยังมีน้ำในคลองสาธารณะจากทางเหนือน้ำขึ้นไปส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งขอให้มีการพิสูจน์ให้ชัดเจนว่าเป็นน้ำจากส่วนใด เพราะกระบวนการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่คลองธรมชาติจะถูกกักเอาไว้บ่อพักทั้ง 4 จุดนานกว่า 1 เดือน จึงจะมีการปล่อยออกไป”
ขณะที่ นายปิยะ พวงสำลี เจ้าหน้าที่จากศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดนครปฐม และตัวแทนคณะกรรมการคุ้มครอผูเบริโภค รัฐสภา เข้าร่วมรับฟังการชี้แจง และลงพื้นที่ตรวจสอบกระบวนการบำบัดน้ำเสียอย่างละเอียด ได้เก็บข้อมูลพร้อมเสนอให้โรงงานจัดทำกิจกรรมให้ชาวบ้านได้ทราบข้อมูลที่ชัดเจน รวมถึงให้โรงงานมีส่วนร่วมกับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมรอบโรงงานเพื่อการอยู่ร่วมกับชุมชน โดยผู้บริหารรับปากว่าจะเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชน เพื่อให้ทั้งโรงงาน และชาวบ้านได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขทั้ง 2 ฝ่าย
ทั้งนี้ วันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 13.00-18.00 น. ได้มีการนำผลตรวจสอบคุณภาพน้ำ ซึ่งชาวบ้านตักขึ้นจากลำคลองหน้าโรงงานดีโด้ เพื่อให้ส่งไปตรวจสอบค่ามาตรฐานทางน้ำ โดยมี นายศิริศักดิ์ ศิริมังคะลา นายอำเภอสามพราน เป็นประธานในการหารือร่วมกัน และมีเจ้าหน้าที่จากอุตสาหกรรมจังหวัด อบต.ตลาดจินดา และชาวบ้านได้เข้าร่วมรับฟังผล ซึ่งเจ้าหน้าที่โรงงานดีโด้และโรงงานใกล้เคียงอีก 3 แห่ง เข้ามาร่วมรับฟังผลการตรวจสอบ มีผลสรุปว่า น้ำที่นำไปตรวจสอบมีค่าเน่าเสียจริง โดยมีค่าสารที่ก่อให้เกิดน้ำเสีย 3-4 ชนิด มีชาวบ้าน 25 ราย ได้รับความเดือดร้อนจริง
นายปิยะ กล่าวว่า การหารือหลายหน่วยงานปรากฏว่า ไม่ได้ข้อตกลงที่ชัดเจน เนื่องจากทางโรงงานดีโด้ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นต้นเหตุน้ำเน่าเสีย จึงได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายชุมชน ฝ่ายวิชาการ และส่วนราชการ เข้าร่วมหาทางออกเยียวยาผู้เสียหายทั้ง 25 รายต่อไป เบื้องต้น คาดว่าความขัดแย้งระหว่างชาวบ้าน และโรงงานจะยังไม่จบลงง่ายๆ