นอกจากปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว ปัญหามลพิษจากน้ำเน่าเสียก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาเนิ่นนานและนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดน้ำเสียมาจาก 3 แหล่ง คือ ชุมชน อุตสาหกรรม และกิจกรรมการเกษตรซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะขาดความร่วมมือจากชุมชนและความเอาจริงเอาจังจากภาครัฐในการแก้ไขปัญหา
จุดนี้เองได้จุดประกายให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสยาม เกิดความคิดริเริ่มโครงการ“Yes I A_M (พลังอาสา ร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์ชุมชนสุขภาวะดี ภาษีเจริญ)” เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตน้ำเน่าเสีย โดยส่งผ่านความรู้ที่ได้จากห้องเรียนสู่การลงมือปฎิบัติจริง ด้วยการประดิษฐ์ Bio Box ขึ้นมาบำบัดน้ำเสียให้แก่โรงเรียนและชุมชนภายใต้แนวคิด“ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ”
โครงการ “Yes I A_M นี้ เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย Gen A : Active Citizen “รวมพลคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา” ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิธรรมดี เพื่อเฟ้นหาโครงการจิตอาสาต้นแบบเปลี่ยนประเทศ
หัวหน้าโครงการ Yes I A_M “น้องมด” หรือนางสาวฉัตรสุรีย์ อำไพ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม เล่าว่า ตนและเพื่อนๆ สมาชิกในกลุ่มอีก 5 คนซึ่งเรียนสาขาเภสัชศาสตร์ อยากจะใช้ความรู้ความสามารถด้านการดูแลรักษามนุษย์และสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม จึงเริ่มศึกษาพื้นที่โดยรอบจนพบว่าปัญหาขยะและน้ำเน่าเสียในลำคลองบริเวณรอบมหาวิทยาลัยยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากชุมชนและภาครัฐ
“ทุกปีคณะของเราจะมีการลงชุมชน และรับทราบปัญหาจากชุมชนว่ามีอะไรบ้าง ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบคือ น้ำเน่าเสีย และขยะมูลฝอย เพราะชุมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือแถวมหาวิทยาลัยจะเป็นชุมชนติดคลอง ทำให้เราเกิดความคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ จึงคิดที่จะสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา เพราะเราคิดว่าการใช้ทุนทางความคิด ทุนจิตอาสา และทุนทางปัญญา จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงจริงๆ มากกว่าการใช้ทุนทางการเงิน โครงการเราจึงคิดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา เรียกว่า Bio Box และ Mini Bio Box โดยBio Box จะเป็นอุปกรณ์กรองน้ำแบบใหญ่สำหรับติดบริเวณลำคลอง ส่วน Mini Bio Box จะเป็นอุปกรณ์กรองน้ำแบบเล็กสำหรับใช้งานในครัวเรือน ส่วนวัสดุที่อยู่ภายในเป็นวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย สำลีที่ใส่ไว้บริเวณปากกระบอก ตามด้วยถ่าน ทรายละเอียด กรวด และหิน ทำหน้าที่กรองและบำบัดน้ำเสียจากครัวเรือน ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำคลองเป็นการแก้ปัญหาจากครัวเรือนอย่างแท้จริง
“ปัจจุบันเรามีเครื่อง Bio Box จำลองติดตั้งอยู่หลังมหาวิทยาลัยสยามโดยใช้เป็นต้นแบบทดลองเครื่องแรกซึ่งพบว่า ประสบความสำเร็จใช้แก้ปัญหาน้ำเน่าเสียได้ดี โดยวัดจากค่า pH ของน้ำจากเดิมอยู่ที่ 7.8 ถือว่ามีความเป็นกรดมาก เมื่อติดตั้งเครื่องนี้แล้วแล้วพบว่าค่า pH ลดลงมาเหลือ 7.4 ซึ่งในสภาพความเป็นกลางนั้น ค่า pH จะอยู่ที่ประมาณ 7 จึงถือว่าเครื่อง Bio Box นี้สามารถช่วยให้น้ำในลำคลองเน่าเสียน้อยลงเราตั้งเป้าว่าจะขยายเครือข่ายโครงการให้แพร่หลายออกไปในอนาคต โดยกำหนดให้ชุมชนศิรินทร์และเพื่อน เป็นชุมชนต้นแบบ และทางโครงการจะลงพื้นที่ไปตามโรงเรียนและชุมชนเพื่อสอนวิธีการทำ Bio Box ให้เป็นที่รู้จักและนำไปใช้อย่างทั่วถึง” น้องมด กล่าวเสริม
สำหรับผลตอบรับของโครงการนี้“น้องเมย์” หรือเด็กหญิงกัญญารัตน์ รัตนวงค์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบางจาก(โกมลประเสริฐอุทิศ) บอกว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการจัดกิจกรรมของพี่ๆที่เข้ามาในโรงเรียน คือการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ พวกเราได้เรียนวิธีการทำเครื่องกรองน้ำด้วยตนเอง เพียงแค่ใช้วัสดุที่หาได้ทั่วไปจากธรรมชาติ ได้แก่ สำลี ถ่าน ทราย กรวด และหิน นำมาใส่ขวดเรียงตามลำดับ ก็จะช่วยกรองน้ำเสียเป็นน้ำดีได้ ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมของชุมชนดี น้ำในคลองรอบโรงเรียนก็ไม่เน่าเสีย และจะนำวิธีนี้ไปทดลองใช้อย่างจริงจังที่บ้านอีกด้วย”
ด้านอาจารย์ผู้สนับสนุนโครงการ ดร.นฤมล โพธิ์ศรีทอง เล่าว่า “แนวคิดการทำโครงการนี้มีมาตั้งแต่ช่วงวิกฤตน้ำท่วมแล้ว ซึ่งขณะนั้นคลองเต็มไปด้วยขยะและน้ำเน่าเสีย แต่ไม่มีหน่วยงานไหนมาให้ความช่วยเหลือเลย เราจึงคิดทำเครื่องกรองน้ำ ที่เรียกว่า Bio Box ขึ้นมา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโครงการพระราชดำริแหลมผักเบี้ย ซึ่งเป็นโครงการที่บำบัดน้ำเสียด้วยวิธีชีวภาพทั้งหมด เพราะการใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสียจะทำให้เกิดปัญหาซับซ้อน และในอนาคตเราก็จะนำสมุนไพรที่ชุมชนปลูกมาเป็นส่วนประกอบใน Bio Box เพื่อดับกลิ่นน้ำเน่าเสียด้วย การทำ Bio Box จะช่วยให้กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพคงอยู่ในน้ำได้ยาวนานกว่าการใช้ EM Ball ซึ่งเมื่อทิ้งไปในน้ำแล้วจะจมลงสู่ดินมากกว่า ในอนาคตเรามุ่งหวังว่าจะทำเชื่อมทุกคลองถ้าได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน บ้าน และชุมชน ซึ่งโครงการนี้ได้ผ่านมาตรฐานระดับพื้นฐานแล้ว แต่ก็หวังว่าจะสามารถยกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้นได้อีก โดยอยากเห็นคนทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อส่วนรวมและอนาคตที่ดีของชุมชน”
ปัญหาน้ำเน่าเสียไม่เพียงแต่เป็นปัญหาของชุมชนหรือสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของมนุษยชาติที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อการกระทำของตนเอง ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืนก็คือการปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงผลเสียของความมักง่ายจากน้ำมือมนุษย์ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อในอนาคตคนรุ่นหลังจะมีน้ำกินน้ำใช้ที่สะอาด บริสุทธิ์ และมีระบบนิเวศน์ที่กลับคืนสู่สมดุลดังเดิม
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่