ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กรมชลประทาน เตรียมส่งน้ำช่วยนาข้าวตั้งท้อง หลังฝนตกตอบบนมีน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้น ขณะที่คลองชัยนาท-ป่าสัก น้ำไหลเข้าได้เแล้วไม่ต้องใช้เครื่องสูบ
วันนี้ (21 ก.ค.) ส่วนประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ แหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ล่าสุด วันที่ 20 ก.ค. ว่า เขื่อนภูมิพล จ.ตาก มีปริมาณน้ำ 3,920 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 29 ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 120 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำ 3,115 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33 น้ำใช้การได้ 265 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก มีปริมาณน้ำ 101 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11 น้ำใช้การได้ 58 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำ 41 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 4 น้ำใช้การได้ 38 ล้าน ลบ.ม. รวม 4 เขื่อน มีน้ำใช้การได้รวมกัน 481 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีฝนตกทางตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาบ้างแล้ว ประกอบกับการดำเนินตามมาตรการงดการส่งน้ำ และงดการสูบน้ำตามสถานีสูบน้ำต่างๆ ทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ +13.80 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้น้ำไหลเข้าคลองชัยนาท-ป่าสักได้ โดยไม่ต้องอาศัยการสูบน้ำ สามารถส่งน้ำไปช่วยผลิตน้ำประปาในเขต จ.สระบุรี และ จ.ลพบุรี ได้มากขึ้น
ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน และหน่วยงานในสังกัดเร่งหาทางแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำนาปีในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสิงห์บุรี เป็นต้น ซึ่งกรมชลประทาน จะเร่งสำรวจพื้นที่ซึ่งอาจได้รับความเสียหายให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดภายในวันที่ 21 ก.ค.
สำหรับแนวทางการเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่ปลูกข้าวนาปี จะพิจารณาส่งน้ำให้ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1.ข้าวที่อยู่ระหว่างตั้งท้องที่อาจเสียหายหากไม่ได้รับน้ำ 2.ไม้ผล และสวนกล้วยไม้ 3.พื้นที่ปลูกข้าวที่มีอายุมากกว่า 6 สัปดาห์ และ 4.พื้นที่ปลูกข้าวที่มีอายุน้อยกว่า 6 สัปดาห์ โดยจะเริ่มช่วยเหลือได้เร็วที่สุดใน 1-2 วันนี้
ส่วนการเตรียมรับมือต่อภาวะน้้ำทะเลหนุนสูงวันที่ 30-31 ก.ค.นี้ จะระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 90-95 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาให้อยู่ใกล้เคียงค่ามาตรฐานมากที่สุด ไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปา อย่างไรก็ตาม ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจกันใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะรุนแรงมากขึ้นได้ในอนาคต