กาญจนบุรี - ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ ยอมรับน้ำใน 2 เขื่อนยักษ์ “เขื่อนวชิราลงกรณ-ศรีนครินทร์” แล้งสุดในรอบ 50 ปี หากฝนไม่ตกตามฤดูกาลเหมือนอปี 2556-57 ต้นทุนน้ำในเขื่อนทั้ง 2 เขื่อนอาจจะไม่มีใช้สำหรับหน้าแล้งในปี 2559 วอนประชาชน 7 จังหวัดลุ่มน้ำแม่กลอง รวมทั้งชาว กทม.ช่วยใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนชาวนาควรขุดบ่อไว้ใช้เอง
เมื่อเวลา 15.00 น.วันนี้ (26 มิ.ย.) นายประเสริฐ ธำรงวิศว ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ให้สัมภาษณ์ที่บริเวณต้นแม่น้ำแม่กลอง ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ กับเขื่อนศรีนครินทร์ว่า ข้อมูลน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ วันที่ 26 มิถุนายน 2558 เวลา 09.00 น.ที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 164.74 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากปกติรับได้สูงสุด 180 คิดเป็นปริมาณ 12,050.99 ล้าน ลบ.ม.จากระดับสูงสุด 17,745 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 67.91% สามารถรับน้ำได้อีก 5,694.11 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา มีจำนวน 6.68 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเครื่องวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา จากเขื่อนท่าทุ่งนา 5.00 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับเขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ อยู่ที่ระดับ 137.88 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง รับน้ำสูงสุดได้ 155 เมตร คิดเป็นปริมาณ 3,620.17 ล้าน ลบ.ม. จากที่รับได้สูงสุด 8,860 ลบ.ม. คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 40.86% สามารถรับน้ำได้อีก 5,239.83 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา จำนวน 56.34 ล้าน ลบ.ม.ปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเครื่องวันที่ 25 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา จำนวน 9.04 ล้าน ลบ.ม.
จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนทั้ง 2 เขื่อนมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งเป็นเพราะว่าฝนเริ่มตกลงมาได้ประมาณ 3 วัน ส่วนตัวอยากให้ฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องสัก 100 วัน ปริมาณน้ำสักประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. ก็จะทำให้ต้นทุนของน้ำสามารถเพียงพอที่จะนำไปใช้ในช่วงฤดูแล้งของปี 2559 แต่มันก็คงเป็นไปไม่ได้อย่างที่ต้องการ และจากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานชลประทานที่ 13 เขื่อนแม่กลอง กรมชลประทาน พบว่า ปริมาณของน้ำทั้ง 2 เขื่อนที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่าแล้งที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี
“อยากฝากเตือนไปยังประชาชนที่อาศัยตามลุ่มน้ำแม่กลองทั้ง 7 จังหวัดคือ จ.เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม สุพรรณบุรี และ จ.กาญจนบุรี รวมทั้งชาวกรุงเทพฯ ให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย เพราะในช่วงฤดูฝนนี้ยังไม่แน่นอนว่าฝนจะตกลงมาตรงตามฤดูกาลหรือไม่ เพราะอากาศค่อนช้างแปรปรวน หากฝนไม่ตกตามฤดูกาลเหมือนเมื่อปี 2556 และ 2557 ที่ผ่านมา ต้นทุนของน้ำในเขื่อนทั้ง 2 เขื่อนอาจจะไม่มีใช้สำหรับหน้าแล้งในปี 2559 ก็เป็นได้ สำหรับชาวนาที่มีพื้นที่ทำนาเป็นของตนเองก็อยากจะแนะนำว่าควรที่จะขุดบ่อในพื้นที่นาของตัวเองเอาไว้ เชื่อว่าคงจะบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ตนเองได้” นายประเสริฐ กล่าว