ชัยนาท/อ่างทอง - ภัยแล้งคุกคามหนัก! ทำฝูงวัว-กระบือ ของชาวชัยนาทขาดแหล่งน้ำ อาหาร ชาวบ้านต้องพาเดินไกลกว่า 5 กิโล เมตร ออกหากินตามคลองชลประทานที่ยังมีน้ำเหลือติดก้นคลอง ด้านชาวสวนกล้วยอ่างทองครวญ ภัยแล้งส่งผลกระทบสวนกล้วยยืนต้นตายเกือบ 10 ไร่ ทำให้รายได้หายไปกว่าครึ่ง
วันนี้ (7 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ว่า นอกจากจะส่งผลกระทบต่อชาวนาไม่มีน้ำทำนาแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อโค-กระบือ ของชาวบ้านต้องขาดแคลนแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำกินไปด้วย ทำให้ชาวบ้านต้องพาฝูงวัวของตัวเองเดินหาหญ้าหาน้ำกินไกลกว่า 5 กิโลเมตร เพราะแหล่งน้ำที่เคยมีตามทุ่งนาเหือดแห้งไปหมด
นายสมพงษ์ มาก๋ง อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 68 หมู่ 5 ต.สรรพยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท เกษตรกรผู้เลี้ยงวัว กล่าวว่า ภัยแล้งปีนี้รุนแรงที่สุดเท่าที่ตนเคยเจอมา แหล่งน้ำที่เคยมีตามทุ่งนาเหือดแห้งไปหมด หญ้าก็ไม่มีขึ้นเพราะไม่มีน้ำ ทำให้วัวไม่มีหญ้าไม่มีน้ำกิน ในแต่ละวันตนต้องต้อนฝูงวัว 17 ตัว ออกไปหากินไกลจากบ้านกว่า 5 กิโลเมตร และต้องพาไปหากินตามคลองชลประทานที่ยังมีน้ำเหลืออยู่ติดก้นคลอง เพราะตรงจุดนั้นจะมีหญ้าขึ้นอยู่ด้วยช่วยให้วัวมีกินได้บ้าง
“แต่หญ้าก็มีน้อย วัวกินได้ไม่นาน หญ้า และน้ำตรงจุดนั้นก็หมดอีก จึงต้องพาวัวเดินหากินไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีเงินซื้อฟางอัดฟ่อนให้วัวกิน และการที่แหล่งน้ำ อาหารมีน้อย ทำให้ต้องคอยระวังไม่ให้ฝูงวัวเข้าไปกินต้นข้าวในนาของชาวนาอีกด้วย”
ส่วนในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยแล้งอย่างหนักเช่นกัน โดยเฉพาะชาวส่วนกล้วย โดย นายสมชาย กับทวี อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 7 หมู่ 3 ต.คลองวัว อ.เมือง จ.อ่างทอง ชาวสวนกล้วย เปิดเผยว่า สวนกล้วยของตนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมานานแล้ว เนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชลประทานชะลอการจ่ายน้ำ ส่งผลให้สวนกล้วย จำนวน 8 ไร่แห้งเหี่ยวยืนต้นรอความตาย ทำให้รายได้ลดลงจากการตัดใบตองนำไปขายที่ตลาดวันละ 100 กิโลกรัม ในช่วงนี้ลดลงเหลือวันละไม่ถึง 30 กิโลกรัม และแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
“ผมได้ลงทุนปลูกกล้วยตัดขายใบตองมานานหลายปี หลังหักค่าใช้จ่ายแล้วจะได้ 100-500 บาทต่อวัน ปีนี้เกิดภาวะแล้งหนักมาก และนานหลายเดือน ทำให้ใบตองกล้วยแตกเสียหาย ตัดไปขายตลาดไม่ได้ราคา ทำให้ตอนนี้กลุ้มใจมาก” นายสมชาย กล่าว