xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-พม่าติวเข้ม จนท.ตรวจสารตั้งต้น หลังทะลักข้ามแดนหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ป.ป.ส.เปิดห้องติวเข้มเจ้าหน้าที่ไทย-พม่า สอนเชิงตรวจพิสูจน์หาสารตั้งต้น-เคมีภัณฑ์ผลิตยาเสพติด หลังพบทะลักข้ามแดนผ่านไทย และอินเดีย เข้าแหล่งผลิตยานรกหนัก

วันนี้ (9 ก.ค.) น.ส.รัชนีกร สรสิริ รองเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมการตรวจพิสูจน์เบื้องต้นสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตยาเสพติด ระหว่าง 9-10 ก.ค. ณ ห้องประชุมโรงแรมริมกกรีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย โดยมีเจ้าหน้าที่ไทยจำนวน 30 คน และ พ.ต.ต.maung maung yin นำเจ้าหน้าที่พม่าอีก 31 คน เข้าร่วมอบรม

น.ส.รัชนีกรกล่าวว่า ไทย-พม่ามีความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดมาตลอด และเข้าร่วมกลุ่ม 4 ประเทศตามปฏิบัติการแม่น้ำโขงปลอดภัย จนสามารถตรวจยึดของกลางยาเสพติดและเคมีภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมาก เช่น ฝ่ายพม่าตรวจยึดสารกาเฟอีนได้จำนวน 8 ตัน ฝ่ายไทยตรวจยึดสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตยาเสพติดได้ที่เรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จำนวน 20 ตัน เป็นต้น

แต่เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนร่วมกัน ย่อมจะทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น และเป็นผลกระทบด้านลบที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องสกัดกั้นทั้งการผลิตยาเสพติดและการลักลอบนำสารตั้งต้น-เคมีภัณฑ์ เข้าสู่แหล่งผลิตร่วมกันต่อไป

ด้านนายวิชัย ไชยมงคล ผู้อำนวยการ ป.ป.ส.ภาค 5 ได้บรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์ และการควบคุมสารตั้งต้น-เคมีภัณฑ์ โดยยกตัวอย่างการจับกุมผู้ต้องหา และนำเสนอภาพของกลางที่ตรวจยึดได้ในหลายคดี เพื่อให้เห็นถึงลักษณะของสารตั้งต้น-เคมีภัณฑ์ เช่น สารซูดูอีเฟรดีน สารเมทิลลีนคลอไรด์ ฯลฯ พร้อมนำเสนอบรรจุหีบห่อที่ตรวจยึดได้ การลักลอบขนตามเส้นทางต่างๆ เช่น คดีเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2551 เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.พม่า ตรวจยึดยาแก้หวัดได้จำนวน 1,680,000 เม็ด บริเวณจุดตรวจวันตา จ.เชียงตุง ก่อนจะลำเลียงเข้าไปยังเขตปกครองพิเศษที่ 2 ของกองกำลังว้า และวันที่ 6 พ.ค. 2552 ตรวจยึดได้ที่จุดเดียวกันอีกจำนวน 414,700 เม็ด เป็นต้น

ซึ่งสารตั้งต้น-เคมีภัณฑ์ดังกล่าวมีทั้งที่ผิดกฎหมาย และไม่ผิดกฎหมาย เพราะส่วนใหญ่เป็นยาแก้หวัด แต่โดยพฤติกรรมแล้วพบว่ามีการนำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้เป็นส่วนใหญ่ ที่ผ่านมาตรวจพบมีการนำเข้ากว่า 34,520,000 เม็ด รองลงมาพบในประเทศไทย 5,477,886 เม็ด ที่เหลือเป็นประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และไม่ทราบแหล่งที่มา สำหรับในประเทศพม่า คงจะมีข่าวเรื่องการนำเข้ามาจากประเทศอินเดียด้วย เพราะในพม่าไม่มีแหล่งของเคมีภัณฑ์เหล่านี้

ทั้งนี้ การนำไปยังแหล่งผลิตยาเสพติดพบว่ามีทั้งการนำมาพักในประเทศไทยก่อน และส่งเข้าแหล่งผลิตโดยตรง และบางรายบรรทุกในตู้คอนเทนเนอร์ผ่านแดน ทำให้เจ้าหน้าที่ไทยตรวจสอบไม่ได้ แล้วส่งผ่านเข้าไปประเทศกัมพูชาก่อนส่งต่อเข้าโรงงานผลิตยาเสพติด

นายวิชัยกล่าวว่า ลักษณะของสารตั้งต้น-เคมีภัณฑ์เหล่านี้จะเป็นยาแก้หวัดแบบเม็ด ซึ่งในปริมาณจำกัดไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่กลุ่มขบวนการจะมีพฤติกรรมที่ทำให้พบว่านำไปผลิตยาเสพติด คือ จะแกะยากลุ่มต่างๆ เหล่านี้ออกจากแผงหรือขวด

โดยที่ผ่านมาพบมีการนำไปพักที่ จ.เชียงใหม่ แล้วจ้างชาวบ้านแกะยาออกเม็ดละ 50 สต. จนชาวบ้านที่รับจ้างมีรายได้มากถึงวันละ 500-1,000 บาทต่อคน จากนั้นนำยาเม็ดที่ได้ใส่ถุงพลาสติกใส บรรจุกระสอบก่อนใส่กล่องกระดาษเพื่อนำส่งผ่านชายแดน ไปยังแหล่งผลิตยาเสพติด ซึ่งเมื่อปี 2553 เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบที่ จ.เชียงใหม่ พบของกลางกว่า 6 ล้านเม็ด แต่พบมีกล่องบรรจุเก่าที่เหลืออยู่อีกมหาศาล แสดงว่ามีการลักลอบขนออกไปแล้วเป็นจำนวนมาก

และที่ผ่านมาไทย-พม่าเคยขยายผลจากการตรวจยึดถุงพลาสติกใสที่ใช้บรรจุยาที่เป็นสารตั้งต้นดังกล่าว จนสามารถยึดของกลางยาบ้าได้กว่า 15 ล้านเม็ด เฮโรอีนร่วม 1,000 กิโลกรัมมาแล้ว

ผู้อำนวยการ ป.ป.ส.ภาค 5 กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาสถาบันตรวจพิสูจน์ของ ป.ป.ส.ตรวจพบว่าสารตั้งต้นซูโดอีเฟรดีน ที่เป็นยาแก้หวัดมาจากประเทศเกาหลีใต้ จะมีปริมาณของสารที่ใช้นำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตยาบ้าได้ 60 มิลลิกรัมต่อเม็ด แต่หากมาจากประเทศอินเดียจะมีปริมาณสูงกว่าเป็น 120 มิลลิกรัมต่อเม็ด หรือเป็น 2 เท่า จึงเฉลี่ยได้ว่ายาแก้หวัดที่นำมาจากเกาหลีใต้จะสามารถนำไปผลิตยาบ้าได้จำนวน 3 เม็ด และหากมาจากอินเดียจะสามารถนำไปผลิตได้ 5-6 เม็ด




กำลังโหลดความคิดเห็น