ประจวบคีรีขันธ์ - หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน ยังคงต้องปักหลักบินโปรยสายฝนหลวงในประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และราชบุรีอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นเติมน้ำเขื่อนปราณบุรีที่วิกฤตหนัก ปริมาณน้ำเหลือน้อยเพียง 19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และเขื่อนแก่งกระจาน
วันนี้ (30 มิ.ย.) นายประสพ พรหมมา ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ กล่าวว่า ได้มาตั้งฐานหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน ที่ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 4 เดือนแล้ว โดยมี นายแทนไทร์ พลหาญ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน พร้อมนักวิทยาศาสตร์มาดูแล ซึ่งขึ้นบินทำฝนไปแล้วถึง 361 เที่ยวบิน 77 วัน ปฏิบัติการใช้สารฝนหลวงไปกว่า 252.5 ตัน มีฝนตกลงมาถึง 73 วัน
นายประสพ พรหมมา กล่าวอีกว่า สำหรับหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน ยังคงต้องปฏิบัติภารกิจการทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำเหนือเขื่อนปราณบุรีต่อไป เนื่องจากปริมาณน้ำลดลงเหลือเพียง 19 เปอร์เซ็นต์ 75 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างวิฤกตเพราะประสบปัญหาภัยแล้งต่อเนื่อง และปริมาณฝนธรรมชาติที่ตกลงมาปริมาณน้อย โดยสิ่งสำคัญปริมาณน้ำในเขื่อนปราณบุรีจะถูกส่งไปใช้ในหลายอำเภอ ทั้งอำเภอปราณบุรี อำเภอสามร้อยยอด และอำเภอหัวหิน ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำที่สูงขึ้น เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว
ด้าน นายแทนไทร์ พลหาญ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหิน ส่วนจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหินได้ทำการบินปฏิบัติการโปรยสารฝนหลวงเหนือเขื่อนแก่งกระจาน ซึ่งมีน้ำเหลือประมาณ 36 เปอร์เซ็นต์ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังมากกว่าเขื่อนปราณบุรี ซึ่งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงหัวหินในแต่ละวันต้องมีการประชุมตรวจสอบสภาพอากาศในช่วงเช้าของทุกวัน
หากพบว่าสภาพอากาศ เมฆ ความชื้น สามารถปฏิบัติการทำฝนได้ก็จะดำเนินการขึ้นบินอย่างน้อยวันละ 6-8 เที่ยวบิน โดยใช้เครื่องบินคาราแวน 2 ลำ โดยยอมรับที่ผ่านมา ทั้ง 2 จังหวัดเป็นพื้นที่อับฝน เนื่องจากติดเทือกเขาตะนาวศรี และเป็นพื้นที่แคบบางครั้งลมแรง แต่ถึงจะยากก็ต้องพยายามทำให้เกิดฝนตกให้ได้ เพื่อบรรเทาภัยแล้งช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
“ปริมาณฝนที่ตกลงมาจากการทำฝนก็มีตลอด แต่ยังน้อยอยู่ ทำให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่หัวหินยังคงต้องปักหลักทำฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนปราณบุรี และเขื่อนเพชรบุรีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพื้นที่อำเภอจอมบึง อำเภอบ้านค้า จังหวัดราชบุรี ซึ่งเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกันก็จะบินไปปฏิบัติการโปรยสารฝนหลวงเป็นระยะด้วยเช่นกัน”
นายแทนไทร์ พลหาญ กล่าวต่ออีกว่า ไม่เพียงแต่การขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงเท้านั้น นักวิทยาศาสตร์ และนักบินยังต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินตรวจสอบสภาพพื้นที่ของเขื่อน และอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ซึ่งประสบภัยแล้ง เพื่อติดตามดูในเรื่องของฝนธรรมชาติที่ตกทางด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาตะนาวศรี มีปริมาณน้ำไหลลงสู่เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนแก่งกระจานมากน้อยขนาดไหน เพื่อประเมินปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อน และอ่างเก็บน้ำแต่ละแห่ง
โดยเฉพาะยิ่งในช่วงที่เขื่อนปราณบุรี พบว่า ตั้งแต่ต้น มิ.ย.ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ระดับน้ำได้ลดลงจากเดิมที่มีอยู่กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ แต่วันนี้เหลือเพียง 19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วในเดือนเดียวกันถือว่าต่ำมาก แต่ก็เกิดจากปัญหาฝนที่ตกน้อย ในส่วนของเขื่อนแก่งกระจาน ถึงปริมาณน้ำที่ยังพอใช้อยู่ก็ตาม แต่ก็ต้องทำการปฏิบัติการทำฝนเพื่อเติมน้ำรักษาความชุ่มชื้นของป่าแถบแก่งกระจานเอาไว้ ทั้งนี้ เพื่อใช้ความชื้นปฏิบัติการในการทำให้ฝนตกในพื้นที่ต่อไป