xs
xsm
sm
md
lg

เพิ่งย่างเข้าหน้าฝน! ชาวปลาบากทุกข์หนัก นาข้าวเริ่มยืนต้นตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวนาต้องลงทุนเพิ่มจ้างเครื่องสูบสูบน้ำเข้านา
นครพนม - เพิ่งย่างเข้าสู่หน้าฝนแต่ภัยแล้งมาเยือนแล้ว 11 หมู่บ้านในอำเภอปลาปาก นครพนม เดือดร้อนหนักในรอบ 10 ปีหลังอ่างเก็บน้ำเริ่มแห้งขอด ชาวนาจำใจลงทุนเพิ่มเร่งสูบน้ำเลี้ยงต้นข้าวก่อนยืนต้นตาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มวิกฤตหนัก ภายหลังฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลกระทบหนักพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านที่ได้ทำนาหว่านกันไปแล้วและเตรียมต้นกล้าปักดำนาปี แต่จนถึงขณะนี้ประสบปัญหาขาดน้ำ เช่นเดียวกับเกษตรกรในพื้นที่ ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม รวม 11 หมู่บ้าน ไม่เพียงแต่ได้รับผลกระทบจากพื้นที่นาข้าวขาดน้ำ ต้องหาทางสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำธรรมชาติ เข้าไปหล่อเลี้ยงยืดอายุต้นข้าวที่ขาดน้ำเหี่ยวตาย ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มวันละ 500-1,000 บาท

หนำซ้ำอ่างเก็บน้ำดอนเตย ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำสำคัญขนาดใหญ่เนื้อที่นับ 100 ไร่ กำลังวิกฤตน้ำแห้งขอด ปริมาณน้ำต่ำในรอบ 10 ปี สร้างความวิตกให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันเหลือแหล่งน้ำที่เดียวในการสูบหล่อเลี้ยงนาข้าว หากฝนไม่ตกอีก 2 สัปดาห์คาดว่าน้ำในอ่างจะเหือดแห้ง ไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงนาข้าว ได้รับความเสียหายเหี่ยวตายกว่า 1,000 ไร่แน่นอน

นายบัวภา พ่อเสือ อายุ 57 ปี เกษตรกรชาวบ้านหนองบัว ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม กล่าวว่า ปีนี้ยอมรับว่าเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งกันมาก ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หนักสุดรอบ 10 ปีก็ว่าได้ เพราะตอนนี้ฝนตกน้อยมาก ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ พื้นที่นาข้าวของชาวบ้านที่ทำนาปี รวมถึงกล้าข้าวที่รอการปักดำเริ่มขาดน้ำเหี่ยวตาย ยิ่งพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำเริ่มเสียหาย

ที่สำคัญพื้นที่ ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก เกษตรกรกำลังวิตกกังวลหลังปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเริ่มแห้งขอด เนื่องจากเกษตรกรอาศัยสูบน้ำในอ่างเก็บน้ำดอนเตยหล่อเลี้ยงนาข้าวรอฝนตกลงมา

“คาดว่าจะไม่เพียงพอเพราะพื้นที่นาข้าวต้องการน้ำมาก หากอีกภายใน 1 เดือนปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ เชื่อว่านาข้าวของเกษตรกรจะต้องเสียหายหนัก ขาดทุน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบหาทางพัฒนา ขุดลอกแหล่งน้ำให้มีความลึกเก็บน้ำได้ตลอดปี”

ด้าน นายสง่า แสงแก้ว นายก อบต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่นาข้าวของชาวบ้านในพื้นที่ 11 หมู่บ้าน กำลังได้รับผลกระทบภัยแล้งนับ 1,000 ไร่ เพราะชาวบ้านทำนาหว่านตั้งแต่ต้นฤดู รวมถึงเตรียมกล้าข้าวปักดำนาปี แต่ฝนตกน้อยมาก ทำให้นาข้าวขาดน้ำ ต้องอาศัยสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำสาธารณประโยชน์ เพิ่มค่าใช้จ่ายวันละเป็น 1,000 บาท เพราะยังมีความหวังให้นาข้าวรอดจากภัยแล้ง รอฝนตกลงมา

ที่สำคัญปีนี้อ่างเก็บน้ำดอนเตยเนื้อที่นับ 100 ไร่ ที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของตำบลปลาปากกลับแห้งขอด ปริมาณน้ำน้อยเหลือเพียงแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ วิกฤตหนักในรอบ 10 ปี สร้างความวิตกแก่ชาวบ้าน เพราะหากไม่มีน้ำในอ่างยิ่งกระทบหนักนาข้าวเสียหายหนักแน่นอน

ทาง อบต.ได้เร่งสำรวจให้ความช่วยเหลือตามกรอบอำนาจหน้าที่ แต่อาจจะไม่เพียงพอ จึงได้วางแผนสำรวจเสนอไปยังทางจังหวัด หน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดสรรงบประมาณมาพัฒนาขุดลอกให้เก็บน้ำได้ตลอดปี เพียงพอต่อพื้นที่การเกษตร

จึงอยากให้รัฐบาลเห็นความสำคัญจัดสรรงบประมาณมาพัฒนา แก้ไขปัญหาระยะยาวสามารถทำการเกษตรตลอดปี ไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซาก เพราะปัจจุบันภัยแล้งได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น