กาฬสินธุ์ - กลุ่มนักเขียนอีสานเรียกร้องให้มีการเรียนประวัติศาสตร์อีสานในห้องเรียนเพิ่มเติม ป้องกันวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกลืมเลือน
ที่สวนดอนธรรมบ้านต้อน ต.เหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการนิตยสารทางอีศาน พร้อมด้วยนายทองแถม นาถจำนง นักเขียนชื่อดัง เจ้าของนามปากกาโชติช่วง นาดอน ร่วมเวทีพูดคุยสะท้อนปัญหาสังคมอีสานในยุคเทคโนโลยี และการรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาอย่างหลากหลาย บนเวทีทางอีศานสัญจร ครั้งที่ 1
ซึ่งเป็นการจัดงานภายใต้วาระสำคัญ 3 ประการ 4 ปีทางอีศาน 9 ปีสวนดอนธรรม 60 ปีนายทองแถม นาถจำนง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบงานเขียนที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมเกือบ 100 คน ภายในงานเปิดโอกาสให้สัมผัสและใกล้ชิดกับนักเขียนชื่อดังมากฝีมือหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ไพวรินทร์ ขาวงาม เจ้าของรางวัลนักเขียนซีไรต์ ไผท ภูทา นักเขียนอีสาน รวมถึงการเปิดให้คำปรึกษากับงานเขียนรูปแบบต่างๆ รวมถึงเวทีเสวนา “การเมืองกับการพัฒนาชนบทที่มุ่งสู่ประโยชน์สุข” โดย ดร.ศักดิ์พงศ์ หอมหวน ดร.สัญญา เคณาภูมิ และ ดร.อาทิตย์ บำรุงเอื้อ ดำเนินรายการโดย ว่าที่ ดร.สุขุมวรัชญ์ อัครเศรษฐัง
เรื่องที่น่าสนใจเป็นการอภิปรายหัวข้อ “หลักฐานใหม่ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสื่อสร้างสุขทางจิตวิญญาณ” โดยนายทองแถม นาถจำนง ดร.ดุสิต ศรีโคตร และปรีดา ข้าวบ่อ ดำเนินรายการโดย เกวลิน อ่อนเรือง และปิดท้ายภาคค่ำกับแซยิดปาฐกถาโดยนายทองแถม
นายปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการนิตยสารทางอีศานในฐานะผู้จัดงาน ระบุว่า ที่สวนดอนธรรมของนายโชฎึก คงสมของ ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์อีสาน เพราะมีความสงบเงียบ ร่มรื่น เป็นสถานที่รวมตัวกันของกลุ่มนักเขียนอีสาน และที่เดินทางไกลจากทั่วประเทศหลากหลายสาขาอาชีพที่มีความรัก ชื่นชอบ และศรัทธาในงานเขียน ซึ่งตลอด 4 ปีของนิตยสารทางอีศาน ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองอีกด้านของความเป็นอีสาน ถ่ายทอดเป็นวรรณกรรม รูปภาพ ด้วยพลังของนักเขียนทุกคน
“เจตนารมณ์ของนิตยสารทางอีศานจะนำเสนอผ่านวรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยมุ่งหวังให้เกิดความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม เพื่อนำทางให้ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งตามมา นิตยสารทางอีศานเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมในรูปแบบสารคดี ด้วยการหยิบยกนำเรื่องใกล้ตัวมาเล่าเรื่องราวต่างๆ”
นายปรีดากล่าวว่า นิตยสารทางอีศานยังต้องสู้ต่อกับวัฒนธรรมในโลกเทคโนโลยี แต่จากนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่การเรียนการสอนจะต้องมีบทเรียนด้านศิลปวัฒนธรรมอีสาน เรียนวรรณกรรมพื้นบ้านให้เทียบเท่ากับการเรียนวรรณคดีไทย รวมถึงการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์คนอีสาน ที่จำเป็นจะต้องมีในห้องเรียนในยุคปัจจุบัน
ขณะที่นายทองแถมกล่าวว่า การศึกษาวัฒนธรรมอีสานนอกเหนือจากความบันเทิงแล้ว ยังได้ค้นพบสิ่งใหม่ ๆที่แอบแฝงอยู่ เป็นเรื่องราวที่น่าติดตามให้เป็นประเด็นใหญ่ทางสังคมที่หลายฝ่ายต้องกลับมาให้ความสนใจ ต้องย้ำว่าวัฒนธรรมอีสานมีความเข้มแข็ง เป็นฐานรากของการที่จะพัฒนาด้านต่างๆ ในสังคม เรื่องราวที่ถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมจึงเป็นผลงานที่มีความลึกซึ้ง การเรียนรู้ และศึกษาให้รอบด้าน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการพัฒนาทุกระดับ