เพชรบูรณ์/พิษณุโลก - ผบ.พล.ร.4 นำเจ้าหน้าที่ขึ้นเวทีแจงชาวสวนยางพารา 5 อำเภอเมืองสองแคว หลังผวาหนักกลัวถูกยึดคืนพื้นที่ ย้ำจัดการนายทุนเป็นหลัก ตัดยางทิ้งหลังคดีสิ้นสุด ขณะที่ป่าไม้-กอ.รมน.เดินหน้านำกำลังยึดทั้งที่พิษณุโลก-เพชรบูรณ์อีกกว่าพันไร่
พล.ต.นพพร เรือนจันทร์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 4 กองทัพภาคที่ 3 นายอนันต์ พรหมดนตรี ผอ.ทสจ.พล. นายมานพ สายอุ่นใจ ผอ.สำนักจัดการป่าไม้ที่ 4 (พิษณุโลก) พล.ต.เลอเกียรติ สุนทรเกส รอง ผอ.รมน.จังหวัดพิษณุโลก นายถวิล คงเตว็ด ผอ.สกย.พิษณุโลก พร้อมด้วยประธานสภาเกษตรกร นายอำเภอนครไทย ปลัดอำเภอวังทอง ตัวแทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 11 ขึ้นเวทีชี้แจงทำความเข้าใจให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราใน จ.พิษณุโลก ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่าตามนโยบายของรัฐบาล วานนี้ (23 มิ.ย.) ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
หลังเกษตรกรชาวสวนยางจาก อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย วัดโบสถ์ และชาติตระการ จ.พิษณุโลก ประมาณ 100 คน นัดผู้บัญชาการกองพลทหารราบ 4 เป็นตัวกลางชี้แจงทำความเข้าใจแก่เกษตรกรในจังหวัดพิษณุโลก หลังจากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตัดโค่นสวนยางพาราในที่ดินไม่ถูกต้อง
โดยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยืนยันกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพารา ว่า 1. เกษตรกรที่ไม่มั่นใจว่าพื้นที่ปลูกอยู่ในเขตป่าสงวนหรืออุทยานแห่งชาติหรือไม่ หากยังไม่มีหมายเรียกก็สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ 2. กรณีรายใดที่ถูกจับกุม และอยู่ในขั้นตอนดำเนินคดี ยังคงสามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ได้ หรือจนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะยุติ
3. ศาลยุติธรรมมีคำตัดสินแล้วว่าผิดกฎหมาย หากผู้ถูกดำเนินคดีต้องการอุทธรณ์สามารถทำได้ภายใน 60 วัน 4. หากศาลยุติธรรมมีคำพิพากษายืนยันตามเดิม ผู้ถูกดำเนินคดีสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ 5. หากศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้วว่าผู้ถูกดำเนินคดีมีความผิดจริง ให้นายอำเภอเป็นผู้นำคำพิพากษาดังกล่าวไปติดประกาศ ณ พื้นที่ที่มีการบุกรุก เป็นเวลา 30 วัน
6. หลังจากติดประกาศคำพิพากษาครบ 30 วัน หากไม่มีผู้ใดมาแสดงตัวเป็นเจ้าของ หรืออาจเกรงกลัวความผิด และผู้ถูกดำเนินคดีมีฐานะยากจน และเป็นคนในพื้นที่ ให้ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในพื้นที่ทำประชาคมให้ความเห็นชอบและยืนยันกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จากนั้นให้นำเรียนนายอำเภอหาแนวทางช่วยเหลือ
7. สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทวงคืนผืนป่าที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพ ให้แจ้งความประสงค์ที่นายอำเภอท้องที่นั้นๆ เพื่อนำเรียนรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทวงคืนผืนป่าจะดำเนินการต่อกลุ่มนายทุน โดยให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนการตัดโค่นต้นยางนั้นจะดำเนินการเมื่อคดีสิ้นสุดแล้วเท่านั้น กรณีผู้ที่มีเอกสารสิทธิ หนังสือแสดงสิทธิที่ทำกินในเขตป่าสงวนและป่าเสื่อมโทรม (สทก.) ที่กรมป่าไม้ออกให้ระหว่างปี 25-28 แล้วยังไม่ได้ต่ออายุ สามารถรวบรวมรายชื่อส่งนายอำเภอ และสำนักจัดการป่าไม้ที่ 4 (พิษณุโลก) เพื่อดำเนินการต่อกรรมสิทธิ์ได้
นายฉลอง อุ่นวงค์ สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา กล่าวว่า พอใจและยินดีให้ความร่วมมือกับทางราชการ ซึ่งจริงๆ แล้ว สทก.ถูกป่าไม้เขายึดคืนไปแล้ว ทำให้เกษตรกรไม่สามารถต่ออายุได้ ที่ผ่านมากรมป่าไม้ไม่เคยรับรองสิทธิ์กรณีรัฐบาลให้ความช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตยางพารา กระทั่งวันนี้ต้องขอบคุณที่ ผบ.พล.ร.4 สั่งให้ดำเนินการสำรวจผู้ทำกินตัวจริงๆ เพื่อที่จะได้แจ้งรายชื่อหานายอำเภอทำเรื่องให้ถูกต้อง
“ผู้ที่มารับฟังคำชี้แจงวันนี้ยังไม่มีสวนยางพาราของผู้ใดถูกตัดโค่น เพียงแต่มีการขีดแผนที่เตรียมจะขอคืนพื้นที่ ส่งผลให้ชาวสวนยางมีความกังวัล เพราะหลายรายอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ”
วันเดียวกัน พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ ศปป.4 กอ.รมน. ทหารพลพัฒนาที่ 3 ได้ตรวจยึดพื้นที่ปลูกยางพาราและปาล์ม ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเนินเพิ่ม บ้านนาจาน บ้านห้วยแก้ว ต.หนองกระท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 3 และ 4 จำนวน 2 แปลง รวม 2 คดี เนื้อที่ 881-3-44 ไร่ คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐรวมเป็นเงิน 60,181,944 บาท แจ้งข้อหานำส่งพนักงานสอบสวน สภ.นครไทยต่อไป
ด้านเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ทหารก็ได้เปิดยุทธการทวงคืนผืนป่า “เพชรบูรณ์ยั่งยืน ขอคืน 2 หมื่นไร่” โดยบุกตรวจยึดพื้นที่สวนยางพารา อายุ 2-5 ปี หมู่ 6 ต.ท่าด้วง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ นับร้อยไร่ ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าลำกง และป่าคลองตะโก บริเวณโดยรอบมีแท็งก์น้ำ อาคาร และมีการปรับพื้นที่รอการปลูกยางเป็นขั้นบันได อยู่ในเขตป่าสงวน ลุ่มน้ำชั้น 1 บี, ชั้น 2 และลุ่มน้ำชั้น 3 ตรวจสอบภาพถ่ายปี 45 ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์มาก่อน
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้สอบถามผู้ใหญ่บ้าน ไม่สามารถยืนยันว่าใครเป็นเจ้าของ ทราบเพียงว่าเป็นนายทุนจากภาคใต้ ร.ท.สายชล ชัยชนะ กอ.รมน.เพชรบูรณ์ และนายขจร ใจจูน หัวหน้าหน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ พช.10 (ตะเบาะ) จึงดำเนินการตรวจยึดพื้นที่จำนวน 338-3-02 ไร่ คิดเป็นค่าเสียหายแก่รัฐ 50,813,250 บาท แจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ.ป่าไม้และป่าสงวนแห่งชาติ 2507 ต่อ สภ.หนองไผ่