xs
xsm
sm
md
lg

กก.แก้ปัญหาเขื่อนปากมูลดูพื้นที่กำหนดวันเปิดประตูระบายน้ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้าน หารือกำหนดเวลาเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
วันนี้ (19มิ.ย.58) คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล นำโดยนางเรณู ตั้งคจิวางกูร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และเป็นรองประธานคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล นำคณะนักวิชาการ และตัวแทนภาคราชการที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล จำนวน 17 คน ดูอัตราการไหลของแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี

ทั้งนี้ พบว่าจุดดังกล่าว มีอัตราการรองรับการไหลของน้ำได้ 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อมีระดับน้ำสูง 7 เมตร แต่วันนี้ มีอัตราการไหลของน้ำที่ 19.80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือคิดเป็นร้อยละ 0.76 โดยมีความสูงของน้ำ 1.60 เมตร

สำหรับจุดที่สองคณะกรรมการเดินทางไปตรวจสอบ กายภาพบริเวณแก่งสะพือ ซึ่งเป็นเหมือนเขื่อนกั้นน้ำตามธรรมชาติ เพื่อประเมินหากเปิดประตูเขื่อนแล้ว แก่งสะพือจะช่วยเก็บกักน้ำด้านบนไว้ใช้ในสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นของปีนี้ได้หรือไม่

รวมทั้งตรวจสถานีสูบน้ำบ้านสะพือเหนือ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำใช้เลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 1,500 ไร่ ตั้งอยู่เหนือแก่งสะพือ ต่อจากนั้นเข้าสอบถามเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่บ้านคันลึม ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร ซึ่งตั้งอยู่ท้ายแก่งสะพือ หากเปิดประตูระบายน้ำ จะมีผลกระทบต่อการเลี้ยงปลาของเกษตรกรที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำจำนวนกว่า 270 กระชังหรือไม่

จุดสุดท้ายคือการลงเรือล่องไปตามลำน้ำมูลหน้าเขื่อนปากมูล เพื่อพิสูจน์มีปลาจากแม่น้ำโขงว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่ เป็นจริงตามที่กลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล เรียกร้องให้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อให้กลุ่มชาวประมงตามธรรมชาติได้ประกอบอาชีพจับปลาไปเลี้ยงครอบครัว

นางพูลสุข ศิริเทพ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังบ้านคันลึม ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร กล่าวว่า หากเปิดประตูระบายน้ำในช่วงนี้ ระดับน้ำต้องลดลง แต่การลดลงของน้ำไม่สร้างผลกระทบให้กับผู้เลี้ยงปลา เพราะอย่างไรยังคงมีน้ำเหลืออยู่ และเกษตรกรสามารถลากกระชังให้ลงไปอยู่ในน้ำลึกตามระดับน้ำที่ลดลง และคิดว่าเป็นเรื่องดี เพราะน้ำมีการถ่ายเถด้วย

ด้านนางสุนี ไชยรส หนึ่งในคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลด้านวิชาการ กล่าวว่า การตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ถือเป็นการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เพียงชุดเดียว เพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลที่ยืดเยื้อมานานหลายสิบปี การลงมาดูพื้นที่ เพื่อสามารถประมวลปัญหาโดยการรับฟังชาวบ้านทุกกลุ่ม เพื่อนำไปประกอบกับข้อมูลวิชาการที่ได้ศึกษาก่อนหน้านี้ แล้วสรุปการแก้ปัญหาให้ได้

โดยปัญหาแรกที่ต้องมาดูและตัดสินใจคือ การกำหนดวันเวลาเปิดและปิดเขื่อนปากมูลในปีนี้ หลังจากนั้นจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่เหลืออยู่ โดยวันพรุ่งนี้คณะกรรมการที่ลงมาดูพื้นที่จะประชุมหารือให้ได้ข้อยุติในข้อแรกคือ ช่วงของการเปิดประตูระบายน้ำตามคำเรียกร้องของกลุ่มชาวบ้านสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลเป็นลำดับแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังคณะกรรมการชุดนี้ลงมาดูพื้นที่ จะเก็บข้อมูลทั้งหมดไปประชุมอีกครั้งเวลา 09.00 น.วันที่ 20 มิ.ย. ที่ห้องประชุมจิดารัตน์ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานราชการและประชาชนเข้าร่วมชี้แจง เพื่อให้ได้ข้อสรุปใช้แก้ปัญหาระยะยาวให้ผู้ได้รับผลกระทบมานานกว่า 25 ปี ปัจจุบันเขื่อนปากมูลได้เก็บกักน้ำในระดับ 106.60 ม.รกท. โดยมีระดับการเก็บกักน้ำ 120 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุสูงสุดที่ความสูง 108.00 ม.รกท.หรือมีระดับเก็บกัก 240 ล้านลูกบาศก์เมตร



กำลังโหลดความคิดเห็น