น่าน - ชาวบ้านและนักวิชาการแห่ดูฝูงปลาปีกแดงว่ายทวนน้ำมาง มุ่งหน้าผสมพันธุ์-วางไข่ หรือที่เรียกกันว่า “ปลากอง” เผยเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ 2 วันในเดือนมีนาคมทุกปี และมักตรงกับวันขึ้น 14 หรือ 15 ค่ำเท่านั้น แถมก่อนเกิดมีลางบอก ทั้งนกเค้าแมวร้อง-อากาศเย็น-ท้องฟ้ามืดครึ้ม แต่ปีนี้พบแค่หลักพัน จากเดิมมีนับหมื่นนับแสน
วันนี้ (4 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านจำนวนมากต่างพากันเดินทางไปดูปลาปีกแดงนับพันตัว ที่ว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่ในแม่น้ำมาง ที่บ้านสบมาง ม.4 ต.ภูฟ้า อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าปรากฏการณ์ “ปลากอง” พร้อมกับนำกล้องถ่ายรูป และโทรศัพท์มือถือไปถ่ายภาพเพื่อเก็บเป็นที่ระลึก
ดร.ทวน อุปจักร์ อายุ 39 ปี หนึ่งในผู้ที่เดินทางรอชมปรากฏการณ์ดังกล่าว เล่าว่า ช่วงเดือนมีนาคมทุกปีในแม่น้ำมางจะมีปลาปีกแดงว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่ในที่ตื้นมีโขดหินนับพันตัว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปรากฏการณ์ “ปลากอง”
โดยก่อนที่จะมีปรากฏการณ์นี้จะมีเหตุบ่งบอก เช่น ท้องฟ้ามืดครึ้ม อากาศเย็นผิดปกติ และมีนกเค้าแมวส่งเสียงร้องดังไปทั่วบริเวณ ซึ่งถือว่าแปลกประหลาดและน่าอัศจรรย์ใจ อีกทั้งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นตรงกับวันขึ้น 14 และ 15 ค่ำ หรือวันพระ เพียงแค่สองวันของเดือนมีนาคมของทุกปีเท่านั้น หลังจากปลาที่ขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่แล้วก็จะกลับไปที่อยู่อาศัยเดิม บางตัวก็ตายตามอายุขัย
ซึ่งในปีนี้ปลาปีกแดงค่อนข้างขึ้นมาผสมพันธุ์น้อยกว่าปีที่ผ่านมา และพบขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่ที่แหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาวังควายที่เดียวเท่านั้น เนื่องจากมีการขุดลอกแม่น้ำมาง ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย น้ำขุ่นมัว ทำลายที่อยู่อาศัยของปลาปีกแดง ทำให้ปลาตาย และหนีไปจากแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาของหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านในตำบลภูฟ้าได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้
จากเดิมที่ปลาปีกแดงจะขึ้นมาผสมพันธุ์และวางไข่ในแม่น้ำมางตามแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลา หรือแม้จะไม่ใช่แหล่งอนุรักษ์ก็สามารถพบเห็นปรากฏการณ์นี้ได้ด้วย เพราะปลาปีกแดงจะจำสถานที่ที่มาวางไข่ได้ พฤติกรรมคล้ายกับปลาแซลมอน
นอกจากนี้ ช่วงที่ปลาปีกแดงผสมพันธุ์และวางไข่ ทางผู้ใหญ่บ้านและกำนันใน ต.ภูฟ้าจะประชาสัมพันธ์ห้ามชาวบ้านจับปลาในฤดูวางไข่ หากฝ่าฝืนจะมีการลงโทษปรับเป็นเงิน 500-1,000 บาทต่อตัว เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลาปีกแดงไม่ให้สูญหายไปจากลำแม่น้ำมาง
ด้านนายสมชาติ ธรรมขันทา ผู้อำนวยการวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดน่าน เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ปลากองเป็นพฤติกรรมของปลาปีกแดง ที่ใน 1 ปีโดยเฉพาะช่วงเดือนมีนาคมจะพากันว่ายทวนน้ำมาผสมพันธุ์-วางไข่ตามลำน้ำ โขดหินในแม่น้ำสาขาแม่น้ำน่าน
โดยมีความโดดเด่นคือ จะพากันมาเป็นฝูงนับหมื่นนับแสนตัว ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ ซึ่งนับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่พบยาก หรือจะเรียกได้ว่าพบที่เดียวในประเทศไทยก็ว่าได้ เนื่องจากปัจจุบันแหล่งน้ำต่างๆ ถูกรบกวน มีการจับปลาเพื่อการค้า แต่ที่จังหวัดน่านหลายชุมชนให้ความสำคัญยังคงอนุรักษ์พันธุ์ปลา แหล่งน้ำ จึงทำให้มีปรากฏการณ์ปลากองนี้เกิดขึ้น