ศูนย์ข่าวศรีราชา - ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดจุดบริการเรือประมงเข้า-ออกชุมชนประมงแสมสาร หนึ่งในการแก้ไขปัญหาการทำประมงเพื่อทำการปลดใบเหลือง ภายใต้กรอบของ IUU
วันนี้ (16 มิ.ย.) นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดจุดบริการเรือประมงเข้า-ออก พื้นที่ชุมชนประมงบ้านช่องแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี พ.ต.อ.เมฒาวิศ ประดิษฐ์ผล ผกก.สภ.สัตหีบ กล่าวถึงวัตถุประสงค์แผนปฏิบัติงาน พร้อมผู้แทนจากกองทัพเรือ กรมประมง สมาคมประมง กรมเจ้าท่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ
พ.ต.อ.เมฒาวิศ ประดิษฐ์ผล ผกก.สภ.สัตหีบ กล่าวว่า การจัดตั้งจุดบริการเรือประมงเข้า-ออกเรือประมงชลบุรี พื้นที่ชุมชมประมงบ้านช่องแสมสาร สืบเนื่องจากสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เนื่องจากผลประเมินการแก้ไขปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมของไทย ไม่สอดคล้องต่อกฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป โดยให้ระยะประเทศไทยอีก 6 เดือน สำหรับการแก้ไขปัญหาเพื่อทำการปลดใบเหลือง มิเช่นนั้นประเทศไทยอาจถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือต่อสหภาพยุโรป ภายใต้กฎระเบียบ IUU ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปได้อีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าสินค้าประมงไทย และเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ
ดังนั้น รัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2558 และกรมประมง ได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย โดยให้ ผบ.ทร.เป็น ผบ.ศูนย์ฯ และให้หน่วยงานในศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศร.ชล. เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง
ตลอดจนการชี้แจงข่าวสารข้อมูลให้แก่ผู้ประกอบการประมง การจัดระเบียบกฎหมายเรือประมง และแรงงานประมง รวมทั้งการบริการ และอำนวยความสะดวกแบบเบ็ดเสร็จ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเพื่อปลดใบเหลืองของสหภาพยุโรปในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
สำหรับศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศรวม 16 ศูนย์ ได้แก่ ต.วังกระแจะ จ.ตราด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี ต.ปากน้ำ จ.ระยอง ต.ประแสร์ จ.ระยอง ต.ท้ายบ้าน จ.สมุทรปราการ ต.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ต.ลาดใหญ่ จ.สมุทรสงคราม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ต.อ่าวน้อย อ.บางสะพานน้อย อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต.ปากน้ำ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ต.ปากน้ำ จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติงานรวม 18 นาย ประกอบด้วย กองทัพเรือ 4 นาย กรมประมง 4 นาย กรมเจ้าท่า 2 นาย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 2 นาย ตำรวจภูธร 1 นาย ตำรวจน้ำ 1 นาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง 2 นาย และสมาคมประมงในพื้นที่ 2 นาย ปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมง
พร้อมกันนี้ ยังได้จัดตั้งศูนย์รับดูแลบุตรแรงงานต่างด้าวหลังใหม่ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานด้านการเรียนการสอนเป็นอย่างดี มีการสอนทักษะภาษาไทย ภาษาพม่า และภาษาอังกฤษ ควบคู่กับการทำกิจกรรมทางศาสนาคริสต์ โดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับอายุ 3 ขวบ ระดับอายุ 4-5 ขวบ และระดับอายุ 6-14 ขวบ โดยมีครูไทย 1 คน ครูชาวพม่า 4 คน และแม่ครัว 1 คน
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการนำร่องการบริหารจัดการบุตรแรงงานต่างด้าวในเขตจังหวัดชลบุรี ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ และใช้ชีวิตภายใต้ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม โดยงบประมาณการบริหารจัดการได้มาจากผู้ประกอบการประมง และชาวบ้านชุมชนแสมสาร