xs
xsm
sm
md
lg

สวย-ปลอดสารเคมี “ผ้าทอนาหว้า” ย้อมสี “ขี้ควาย” แบบภูมิปัญญาท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นครพนม - กลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองบ้านบะหว้า อ.นาหว้า สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้ “ขี้ควาย” ย้อมสีธรรมชาติ เผยสีสวยปลอดสาร มีเอกลักษณ์โดดเด่นจนเป็นสินค้าโอทอปขึ้นชื่อของจังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครพนมว่า ที่ อ.นาหว้ามีกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยใช้ “ขี้ควาย” มาป็นสีธรรมชาติย้อมฝ้ายบริสุทธิ์ ก่อนนำไปแปรรูปทอด้วยลวดลายเอกลักษณ์ท้องถิ่น ออกมาเป็นผ้าฝ้ายย้อมขี้ควายที่มีทั้งความสวยงามจากสีธรรมชาติปราศจากสารเคมี รวมถึงความเป็นเอกลักษณ์ที่ยืนยันถึงคุณค่าของโค-กระบือ ที่มีต่อเกษตรกรจากอดีตจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นสินค้าโอทอปขึ้นชื่อที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด

ทั้งผ้าฝ้ายที่นำไปตัดเป็นชุดพื้นเมือง รวมถึงผ้าพันคอมีการพัฒนาอออกมาเป็นลวดลายที่เป็นรูปภาพวาดเหมือนนำไปประดับตกแต่งบ้าน รวมถึงของฝากของที่ระลึกที่หาซื้อได้ยาก

นางเซียม นาขมิ้น อายุ 53 ปี ประธานกลุ่มทอผ้าฝ้ายพื้นเมือง บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า จ.นครพนม เล่าว่า บ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ ถือเป็นอีกหมู่บ้านสำคัญที่มีการรวมกลุ่มของชาวบ้าน สืบทอดอาชีพภูมิปัญญาท้องถิ่นทอผ้าฝ้ายพื้นเมืองย้อมขี้ควาย ถือเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น แสดงถึงสุดยอดภูมิปัญญาในอดีต จากการนำฝ้ายบริสุทธิ์มาแปรรูปเป็นเส้นด้าย ก่อนนำมาหมักแช่น้ำตามกรรมวิธีภูมิปัญญาชาวบ้าน นำไปต้มย้อมสีด้วยขี้ควายหมักแบบไร้สารเจือปน มีเพียงสมุนไพรดับกลิ่นจากตะไคร้หอมที่คิดค้นมาจากบรรพบุรุษ ทำให้ผ้าฝ้ายนุ่ม สีคงทน สวยงามแบบธรรมชาติ ก่อนนำไปทอด้วยมือออกมาเป็นผ้าห่ม ผ้าซิ่น รวมถึงผ้าพันคอ และผ้าตัดชุดพื้นเมือง ที่มีลวดลายสวยงามแบบธรรมชาติ ทำให้ได้รับความนิยม ตลาดสั่งซื้อจำนวนมากเพราะหายากราคาผืนละ 500-3,000 บาท

ควบคู่กันยังมีการผลิตทอผ้าฝ้ายหัตถกรรมพื้นบ้านที่ย้อมสีด้วยเปลือกไม้ตามธรรมชาติ ซึ่งจะได้ผ้าฝ้ายที่มีคุณภาพ รวมถึงความสวยงามแบบโบราณ และมีความคงทน สีไม่ตก

นายวีระ ฤกษ์วาณิชย์กุล อดีตนายอำเภอนาหว้า ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมอาชีพทอผ้าฝ้ายย้อมขี้ควาย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาชาวบ้านผ้าฝ้ายย้อมขี้ควายบ้านบะหว้า ต.ท่าเรือ อ.นาหว้า ถือเป็นความสำเร็จจากโครงการธนาคารโคกระบือตามแนวพระราชดำริ ที่เกิดจากความร่วมมือของอำเภอนาหว้า ร่วมกับปศุสัตว์อำเภอ รวมถึงชุมชนบ้านบะหว้า ที่ต้องการนำร่องในการส่งเสริมสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนนำวิถีชีวิตในอดีตมาใช้ในการประกอบอาชีพทำการเกษตร

รวมถึงอาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การจัดตั้งหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย ตั้งศูนย์ฝึกหัดควายไถนา การก่อตั้งธนาคารขี้ควาย ล้วนเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าวิถีชีวิตภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ให้เลือนหายไปกับความเจริญของสังคม ส่วนหนึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของการนำปุ๋ยอินทรีย์มาใช้ลดต้นทุน จึงเป็นที่มาของการนำขี้ควายมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตผ้าฝ้ายทอมือภูมิปัญญาชาวบ้าน กลายเป็นสินค้าพื้นเมืองที่มีความสวยงาม มีคุณภาพ กลายเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น