ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ทึ่ง! นักวิจัยไทย มทส. ค้นพบแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ครั้งแรกของโลก เผยเป็นกลุ่ม “ไรโซเบียม” ไม่สังเคราะห์แสงจากปมของต้นโสนที่พบในนาข้าวทั่วประเทศ มีคุณสมบัติพิเศษเข้าสร้างปมในถั่วหลายกลุ่มและอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อข้าวได้ด้วย ระบุสามารถพัฒนาต่อยอดช่วยเสริมสายพันธุ์ข้าวไทยให้แข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรค เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน ชี้คนไทยต้องยอมรับ “ข้าว GMO” ในอนาคต
เมื่อเวลา 10.30 น. วันนี้ (10 มิ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) อ.เมือง จ.นครราชสีมา ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พร้อมด้วย ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. ร่วมกันแถลงผลงานวิจัยการค้นพบแบคทีเรียสายพันธุ์ DOA 9 ครั้งแรกของโลก สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการลดต้นทุนการผลิต และการเพิ่มผลผลิตให้ข้าวไทย
ศ.ดร.หนึ่ง เตียอำรุง หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เปิดเผยว่า ขณะนี้มนุษย์เริ่มตระหนักถึงสุขภาพมากขึ้น บริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษหรือสารเคมี ทำให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ปัจจุบันปุ๋ยชีวภาพที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบันชนิดหนึ่งคือ ปุ๋ยไรโซเบียม (Rhizobium) ที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชตระกูลถั่ว โดยอาศัยประโยชน์จากแบคทีเรียไรโซเบียมที่มีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดต้นทุนในการผลิต
คณะผู้วิจัยได้ให้ความสนใจ และประสบความสำเร็จในการแยกแบรดดีไรโซเบียม(Bradyrhizobium sp.) สายพันธุ์ DOA9 ซึ่งเป็นแบคทีเรียในกลุ่มไรโซเบียมที่ไม่สังเคราะห์แสงได้จากปมของต้นโสนขนที่มักพบเจริญเติบโตได้ทั่วไปในนาข้าวทั่วประเทศไทย ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างไปจากไรโซเบียมชนิดอื่นๆ คือ สามารถเข้าสร้างปมกับถั่วในหลายกลุ่ม เช่น ต้นคราม ถั่วฮามาต้า ถั่วซิราโต้ ถั่วโลตัส และถั่วเขียว
ยิ่งไปกว่านั้น ทีมนักวิจัยยังพบว่า DOA9 มีความสามารถในการเข้าอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อพืชอื่นที่ไม่ใช่ถั่ว เช่น ข้าว หรือที่รู้จักกันในนาม Endophyte ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ DOA9 เป็นแบคทีเรียในจีนัส แบรดดีไรโซเบียม ตัวแรกของประเทศไทยที่ได้มีการอ่านลำดับเบสจีโนม (whole genome analysis) อย่างสมบูรณ์
ทั้งหมดเหล่านี้ทำให้เกิดการค้นพบองค์ความรู้ใหม่ในด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานทางชีวภาพ ซึ่งจากผลงานการค้นพบครั้งนี้เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มทส.ได้ส่งนักศึกษา และนักวิจัยไปปฏิบัติการทดลองร่วมกับทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการชั้นนำที่ประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี และประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลาหลายเดือน กระทั่งสามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยวารสารนานาชาติเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในแวดวงวิชาการด้านชีวภาพระดับโลก
ศ.ดร.หนึ่งกล่าวอีกว่า โดยสรุปคือ เกิดสิ่งมหัศจรรย์ค้นพบครั้งแรกของโลก 2 ประการ ประการที่ 1. เป็นยีนส์ที่สร้างปมและตรึงไนโตรเจนอยู่บนพลาสมิดขนาดใหญ่ (magaplasmid) ไม่ใช่อยู่บนโครโมโซมเพียงอย่างเดียวตามปกติ และประการที่ 2. ไรโซเบียมสายพันธุ์นี้สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ในข้าวได้ด้วยซึ่งแตกต่างจากยีนส์ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของแบคทีเรียในกลุ่มแบรดดีไรโซเบียมที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้หลายชนิดเพื่อความอยู่รอด โดยทีมวิจัยค้นพบว่าไรโซเบียม ดังกล่าวอยู่ในข้าวไทยได้ดีกว่าข้าวญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ทีมวิจัย มทส.ได้ให้ความสนใจศึกษาต่อไปว่า กลไกอะไรทำให้เข้าไปอาศัยอยู่ในต้นข้าวได้ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีว่าจะสามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่การเสริมความเข้มแข็งของการผลิตข้าวได้ในอนาคต ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศชั้นนำด้านเทคโนโลยีชีวภาพของโลกในแถบทวีปยุโรป รวมทั้งญี่ปุ่นซึ่งมีความหวงแหนในสายพันธุ์ข้าวของตนเองสูงมาก ได้เกิดการรวมกลุ่มนักวิจัยที่ตื่นตัวอย่างมาก ได้ทุ่มสรรพกำลังในการเร่งศึกษาพัฒนาปุ๋ยชีวภาพไรโซเบียมเพื่อเสริมสายพันธุ์ข้าวที่แข็งแรง สร้างภูมิต้านทานโรค และนักวิจัยมองไปไกลถึงความสามารถในการที่ต้นข้าวสามารถสร้างปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตได้ด้วยตนเอง ลดการใช้ปุ๋ยเคมีในที่สุด หรือ “ข้าว GMO”
สิ่งเหล่านี้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงเกษตรกรไทยคงต้องตระหนักร่วมกันว่า การวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานเหล่านี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อการผลิตข้าวสู่ตลาดโลก
“เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำของโลกในการผลิตข้าวเพื่อการส่งออกเป็นครัวโลกต้องหันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาการผลิตข้าวอย่างจริงจัง เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ในประชาคมโลกต่อไป และคนไทยเราต้องยอมรับข้าว GMO (ข้าวตัดต่อพันธุกรรม) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย หากเพื่อนบ้านเราเป็นข้าว GMO ทั้งหมด ไทยเราก็จะต้องยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ด้วย” ศ.ดร.หนึ่งกล่าวในที่สุด