xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ชี้อนาคตเมืองพัทยาบูมสุดขีด รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ชี้ศักยภาพเมืองพัทยาในอนาคตบูมสุดๆ
ศูนย์ข่าวศรีราชา - สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม ชี้อนาคตเมืองพัทยาบูมสุดขีด หลังรัฐฯ มีแผนพัฒนาระบบคมนาคมแบบครบวงจรทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวเปิดการเสวนากิจกรรมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ของโครงการพัฒนาศักยภาพเมืองพัทยาให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศทางประชาคมอาเซียน ที่โรงแรมอมารีออร์คิด พัทยา จ.ชลบุรี โดยมีกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน เข้าร่วม โดยนายอิทธิพล ระบุว่า ปัจจุบันเมืองพัทยาถือว่ามีความพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ AEC แล้วอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การเร่งจัดในการจัดระเบียบ การกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรม กีฬานันทนาการ และเสริมศักยภาพด้วยโครงการทางด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นด้านการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ขณะที่ นายวิจิตต์ นิมิตวานิช รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ซึ่งได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษบรรยายในหัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานในด้านคมนาคมจะมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจองเมืองพัทยาและการลงทุนของกลุ่มประเทศสมาชิก AEC ได้อย่างไร” กล่าวในที่ประชุมว่า สำหรับพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ และเป็นจุดเชื่อมโยงในภูมิภาคตะวันออก

ปัจจุบัน ทางภาครัฐเองให้ความใส่ใจ และมีแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยในส่วนของทางบกนั้น ที่ผ่านมามีแผนในการจัดทำรถไฟระบบความเร็วสูง หรือ High Speed Train ที่มีอัตราความเร็วที่ 250-350 กม./ชม. ในเส้นทางสายสุวรรณภูมิ-พัทยา-ระยอง ในระยะทางรวม 193.5 กิโลเมตร โดยจะแวะจอดใน 6 สถานีหลักตลอดเส้นทาง ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางจากเดิมให้มีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น โดยจะใช้งบประมาณในการดำเนินการกว่า 1.52 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวปัจจุบันมีการศึกษาแนวทางการจัดทำไว้แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จากกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งหากแล้วเสร็จก็จะมีการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่สนใจหันมาลงทุนจัดทำต่อไป

ขณะที่อีกโครงการที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างมากคือ โครงการพัฒนาระบบรถไฟภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ซึ่งโครงการนี้ที่ผ่านมา ทั้ง 2 รัฐบาลได้มีการหารือร่วมไปแล้ว 3 ครั้ง โดยมีความเห็นชอบในการเปิดเส้นทางเดินรถ 4 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-นครราชสีมา และนครราชสีมา-หนองคาย โดยในส่วนของภาคตะวันออกนั้นจะเป็นเส้นทางแก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กิโลเมตร ซึ่งใช้เส้นทางของรถไฟระบบรางคู่เดิมในปัจจุบัน รวมทั้งผลการศึกษาของรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือ High Speed Train เป็นหลัก

โดยระบบดังกล่าวจะมีการจัดสร้างเป็นระบบรางเดี่ยวซึ่งมีความเร็วอยู่ที่ 180 กม./ชม. โดยโครงการนี้ทางรัฐบาลจีนจะเป็นผู้ออกงบประมาณในด้านการก่อสร้าง ขณะที่ไทยจัดทำผลการศึกษาเรื่องของเส้นทาง และงบประมาณในการจัดทำ ซึ่งหากแล้วเสร็จก็จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อการคมนาคม และขนส่งระหว่างกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันทั้งสองฝ่ายมีผลสรุปที่ชัดเจนพร้อมกำหนดระยะเวลาของการเปิดเส้นทางเดินรถอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2561

นายวิจิตต์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับแผนเกี่ยวกับคมนาคมทางน้ำนั้น มีแผนในการสร้างท่าเรือเฟอร์รี่เชื่อมโยงภูมิภาคตะวันออกเส้นทางพัทยา-สัตหีบ-ระยอง-จันทบุรี และตราด รวมทั้งเส้นทางพัทยา-หัวหิน ซึ่งมีแผนในการจัดสร้างท่าเรือที่สามารถรองรับเรือเฟอร์รี่แบบ Catamaran ขนาด 250 ตันกรอส ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ จำนวน 280 คน เพื่อเพิ่มความสะดวกต่อการเดินทาง และส่งเสริมการท่องเที่ยว

โดยปัจจุบัน ได้มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องทำการศึกษาแนวทางการจัดสร้าง หรือการพัฒนาท่าเรือเดิมเพื่อให้สามารถรองรับได้ โดยมีเป้าหมายการศึกษาที่ท่าเรือโอเชี่ยนมารีน่า ท่าเรือแหลมบาลีฮาย ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเอกชนในพื้นที่หัวหิน และปราณบุรี อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ยังคงมีปัจจัยที่ต้องการศึกษาเพื่อให้เกิดความครอบคลุมหลายด้าน ทั้งด้านการตลาด การบริหาร การแก้ไขปัญหากฎระเบียบของรัฐ

ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่ง และคมนาคมทางอากาศนั้น ปัจจุบันทางกระทรวงคมนาคมได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือกับกองทัพเรือ หรือ MOC ในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 ต่อจากท่าอากาศยานดอนเมือง และสุวรรณภูมิ เนื่องจากเล็งเห็นว่า เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ทั้งด้านภูมิประเทศ และความพร้อมของสนามบิน เช่น ระยะทางที่อยู่ใกล้ กทม.เพียง 190 กม. มีรันเวย์ และอาคารคาร์โก้ขนาดใหญ่ และมีพื้นที่ใช้สอยรวมกว่า 3,000 ไร่ โดยมีแผนการพัฒนาแบ่งออกเป็น 3 ระยะ

ได้แก่ ระยะที่ 1 ระหว่างปี 2558-2560 ที่จะเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารให้ได้ 3 ล้านคน/ปี ขณะที่ปัจจุบันรองรับได้ 1.5 แสนคน/ปี การพัฒนาอาคารรองรับผู้โดยสาร พร้อมการขยายเส้นทางหลวงเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในการเดินทาง ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2561-2563 เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรอบรับผู้โดยสารให้ได้ 5 ล้านคน/ปี และระยะที่ 3 ระหว่างปี 2563 เป็นต้นไป จะเน้นในการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการพัฒนาขีดความสามารถเพื่อรองรับการเติบโดในอนาคต
 
ทั้งนี้ ในส่วนของการพัฒนาระบบคมนาคมทั้ง 3 ด้าน หากดำเนินการแล้วเสร็จก็จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อการคมนาคม ขนส่ง และการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา และภูมิภาคตะวันออกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีหน่วยงานต่างๆพร้อมประชาชน ร่วมรับฟังการชี้แจงในครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น