xs
xsm
sm
md
lg

อี.เทค ฟุ้งแอปเปิล-ซัมซุง-กูเกิล โดดหนุนระบบการสอนผ่านแอปฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา-“อี.เทค” ฟุ้งยอดนักศึกษาใหม่ปี 58 ทั้ง ปวช.-ปวส.พุ่งถึง 5.5 พันคน แจงเป็นเพราะความมั่นใจของผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าศึกษาจากผลสำเร็จด้านการผลิตบุคลากรที่ตรงต่อความต้องการของสถานประกอบการ ล่าสุด กูเกิล ซัมซุง และแอปเปิล หนุนยกระดับการเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom

ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) เผยว่า แม้ภาวะเศรษฐกิจในปี 2558 จะทำให้ยอดนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาของวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งมียอดการเข้าศึกษาต่อของนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับมัธยมการศึกษาปีที่ 3 และ 6 น้อยลง แต่ อี.เทค กลับมียอดสมัครของนักศึกษาใหม่ ทั้งระดับ ปวช.และปวส. สูงถึง 5.5 พันคน มากกว่าปีการศึกษาก่อนที่มีเพียง 4.5 พันคน ทั้งนี้ เป็นเพราะความมั่นใจในระบบการเรียนการสอน รวมทั้งจุดเด่นของสถาบันในด้านการติดตามนักศึกษา

การผลิตบุคลากรที่ตรงต่อความต้องการของสถานประกอบการต่างๆ ในภาคตะวันออก จนทำให้ยอดการได้งานทำของนักศึกษาที่จบการศึกษามีสูงเกือบ 100% ยกเว้นในส่วนของนักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

ในปีการศึกษา 2558 วิทยาลัยฯ ยังนำระบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เรียกว่า Flipped Classroom ที่เน้นการใช้แอปพลิเคชันทั้ง 12 แอปพลิเคชันที่ได้รับการสนับสนุนจากกูเกิล ที่เลือกให้ อี.เทค เป็นสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาแห่งแรกของประเทศ ที่ได้รับการสนับสนุนแอปพลิเคชันทางการศึกษาเพื่อช่วยในระบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบทูเวย์ ที่จะทำให้นักเรียน และครูผู้สอนได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่ค้นคว้าจากโลกออนไลน์ มาคิด และวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ สร้างการคิดเป็นให้แก่นักศึกษาของสถาบัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2557 ที่ผ่านมา ผู้ผลิตเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยรายใหญ่ เช่น ซัมซุง และ แอปเปิล ได้เข้ามาสนับสนุนด้านการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์

“ขณะนี้ทั้ง 3 องค์กรใหญ่ ทั้งซัมซุง แอปเปิล และกูเกิล ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาอบรมเรื่องการใช้เครื่องมือในการรองรับแอปพลิเคชันให้แก่ครูผู้สอนของวิทยาลัยฯแล้ว โดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด เพียงแค่ลงทุนเชื่อมต่อสายไฟเบอร์ออปติกในอาคารต่างๆ เพื่อให้นักเรียนได้เรียนผ่านจอเพาวเวอร์พอยนต์ที่ทุกคนจะสามารถคิดและวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งการเรียนการสอนแบบนี้จะสอนให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ และสร้างความพร้อมในการแก้ไขปัญหา แตกต่างจากการสอนในระบบเก่าที่จะสอนให้เด็กจำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” ดร.ประเสริฐ กล่าว

ด้าน นายสมชาย งามวงษ์วาน ประธานกรรมการบริหาร วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) เผยว่า ไม่เพียงแต่ระบบการเรียนการสอนที่ทันสมัยที่ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าสถาบันฯ จะสามารถใช้ระบบไอทีในการเรียนการสอนได้ทั้งหมดเท่านั้น ปัจจุบันสถาบันยังได้รับการยอมรับเรื่องการนำระบบสมาร์ทการ์ด และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมาใช้เป็นส่วนประกอบในระบบการเรียนการสอน จนสามารถสร้างบุคลากรด้านช่าง และการตลาดที่สามารถใช้ระบบการสื่อสารสมัยใหม่ในการทำงานยุคปัจจุบันได้

วิทยาลัยฯ ยังสามารถยกระดับเป็นศูนย์การเรียนรู้ทุกรูปแบบในวงการอาชีวศึกษา และยังเป็นแหล่งดูงานด้านการศึกษาระดับอาชีวะของทั้งนักศึกษา ผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวะทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งมหาวิทยาลัยทั้งใน และต่างประเทศ ที่ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าเยี่ยมชมไม่น้อยกว่า 100 คณะ

“เรายังสามารถผลิตนักศึกษาด้านช่างฝีมือจนได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศกว่า 100 องค์กร ในการทำสัญญาร่วมกันเพื่อผลิตนักศึกษาป้อนสู่ระบบงาน เช่น กลุ่มไนเนอร์กรุ๊ป เซ็นทรัล ซัมซุง ฯลฯ และนักศึกษาช่างระดับ ปวช.และ ปวส. ยังสอบผ่านการคัดเลือกของ บริษัท เมอร์เซเดส เบนซ์ ที่ต้องการนำนักศึกษาไปฝึกเป็นผู้บริหารศูนย์ได้ทั้ง 23 คน ตามจำนวนที่บริษัทเปิดรับอีกด้วย

นายสมชาย ยังเผยอีกว่า ในแต่ละปีวิทยาลัยฯ ยังทุ่มงบประมาณไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบ CCTV ในการตรวจสอบระบบการเรียนการสอนในห้องเรียน และดูแลความปลอดภัยให้แก่นักเรียน ซึ่งขณะนี้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดทั่วทั้งวิทยาลัยที่มีเนื้อที่กว่า 32 ไร่ รวมทั้งสิ้น 450 ตัว เพื่อให้สามารถตรวจสอบพฤติกรรมของนักเรียนในพื้นที่ต่างๆ ของวิทยาลัยได้อย่างทั่วถึง และป้องกันการเข้ามาก่อเหตุร้ายภายในวิทยาลัยอีกด้วย

นายสมชาย งามวงษ์วาน กับการพัฒนาระบบ CCTV ที่ใช้งบพัฒนากว่า 50 ล้านบาทต่อปี
ดร.ประเสริฐ กลิ่นชู ผอ.วิทยาลัยฯ กับพิธีลงนามความร่วมมือในการป้อนนักศึกษาให้กับเมอร์เซเดรส เบนซ์
กำลังโหลดความคิดเห็น