xs
xsm
sm
md
lg

ปขมท.รับระบบการศึกษาไทยด้อยกว่าเพื่อนบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เวทีประชุมคณะกรรมการสภาข้าราชการพนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) ที่จ.อุบลราชธานี
อุบลราชธานี - ที่ประชุมสภาข้าราชการพนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) รับต้องปฏิรูปตนเองก่อนปฏิรูปการศึกษา พบระบบการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กในเมืองกับเด็กชนบท ส่วนครูผู้สอนยังด้อยคุณภาพ ทำเด็กประถมศึกษาได้เรียนต่ออุดมศึกษาแค่ 10 ต่อ 4

วานนี้ (21 พ.ค.) ที่โรงแรมกิจตรงวิลล์รีสอร์ท อ.เมือง จ.อุบลราชธานี คณะกรรมการสภาข้าราชการพนักงานและลูกจ้างมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปขมท.) กว่า 300 คน ร่วมประชุมหัวข้อ “การปฏิรูปตนเองในศตวรรษที่ 21” สืบเนื่องจากใน 10 ปีข้างหน้าสังคมโลกจะเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศต่างๆ ต้องรวมตัวเป็นกลุ่มประชาคมเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รวมตัวเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน

แต่ปรากฏว่าในปี 2557 ประเทศไทยประสบปัญหาด้านสังคมที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งอาจนำไปสู่ความล้มเหลวในมิติต่างๆ ภายในประเทศ ทำให้ประเทศไทยต้องทบทวนบทบาทของตนเองในทุกด้าน และต้องมีการปฏิรูปตนเอง รวมทั้งด้านการศึกษาทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา จึงนำมาสู่การประชุมหารือข้าราชการพนักงานลูกจ้างในระดับอุดมศึกษา เพื่อปฏิรูปตนเองก่อนมีการปฏิรูปการศึกษา

ด้าน รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึงคุณภาพการศึกษาว่า ต้องวัดด้วยผลสัมฤทธิ์ แต่ที่ผ่านมาระบบการศึกษาไทยด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ การจะปฏิรูปการศึกษาจำเป็นต้องปฏิรูปบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพก่อน และ ปขมท.เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดให้มีการประชุมครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้บุคลากรได้เข้าใจบทบาทของตนเอง พร้อมนำเสนอผลงานที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงความห่วงใยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯต่อการศึกษาไทยในขณะนี้ โดยได้ทรงให้แนวทางว่า ทำอย่างไรให้ครูรักเด็กนักเรียน และเด็กรักครูผู้สอน ซึ่งหมายความว่าการที่ครูรักเด็กนักเรียนนำไปสู่พื้นฐานของการสอน เมื่อเด็กนักเรียนรักครูจะนำไปสู่พื้นฐานของการเรียน ทั้งให้เด็กนักเรียนที่เรียนเก่งช่วยเพื่อนนักเรียนที่เรียนช้า ให้ครูจัดกิจกรรมทำร่วมกันเพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้เรียน

ปัจจุบันการศึกษาของไทยในระบบพื้นฐานที่มีนักเรียนอยู่กว่า 5 ล้านคน ร้อยละ 70 เป็นนักเรียนที่ด้อยโอกาส ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใย ได้มอบทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดการศึกษาแก่เด็กนักเรียนเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแต่มีระบบการศึกษาไม่ชัดเจน เพราะผู้นำไทยที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนเรื่องนี้

ผิดกับประเทศสิงคโปร์ เกาหลี ฟินแลนด์ ที่กล้าปฏิรูปการศึกษาและมีความชัดเจนเรื่องการจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับความจริง ทำให้ประเทศเหล่านี้มีหลักสูตร มีครูที่มีคุณภาพ ผิดกับไทยที่ยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กในเมืองหลวงกับเด็กในภูมิภาค ซึ่งโรงเรียนตามชานเมืองกรุงเทพฯ บางแห่งมีครูสอนเด็กนักเรียนไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้เรียน

ทำให้อัตราเด็กที่เรียนชั้นประถมศึกษา 10 คน สามารถเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้เพียง 4 คน และผู้ที่เรียนจบระดับปริญญาตรีมีงานทำในปีแรกเพียง 1 คน แต่ยังมีการนำสถิติมากล่าวอ้างว่าอัตราการว่างงานของไทยไม่สูงมากนัก ทั้งที่ความจริงไปนับจากคนขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ถือว่ามีงานทำแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น