xs
xsm
sm
md
lg

ลุยนับ “โรฮีนจา” ศูนย์พักพิงบ้านอุ้มเปี้ยม พบยอดไม่ตรง-นัดสรุปใหม่วันนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตาก - ฝ่ายปกครองลุยตรวจสอบโรฮีนจาในพื้นที่พักพิง “บ้านอุ้มเปี้ยม” หลัง UNHCR เคยเข้าสำรวจพบมีเกือบร้อย แต่มีคนยอมรับเป็น “โรฮีนจา” แค่ 30 ที่เหลือบอกเป็นมุสลิมกะเหรี่ยง-มุสลิมพม่า

เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.พบพระ จ.ตาก ได้เข้าตรวจสอบบริเวณพื้นที่พักพิงผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบบ้านอุ้มเปี้ยม อ.แม่สอด จ.ตาก และได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการมุสลิมที่ดูแลเกี่ยวกับกลุ่มมุสลิมเชื้อสายโรฮีนจา ที่อาศัยในพื้นที่พักพิงบ้านอุ้มเปี้ยม เพื่อเน้นย้ำมาตรการการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เฉพาะกลุ่มนี้อีกครั้ง หลังจากที่ได้ประชุมแนวทางแก้ไขกันไปแล้วเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบพบข้อมูลจำนวนผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิง หรือศูนย์อพยพบ้านอุ้มเปี้ยม ที่คณะกรรมการมุสลิมสำรวจไว้ ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ระบุไว้ว่า มีกลุ่มผู้อพยพชาวมุสลิมเชื้อสายโรฮินจา 98 ราย มีสถานะเป็นผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบ 81 ราย และได้รับการช่วยเหลือจากองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติ 17 ราย

แต่จากการประชุมคณะกรรมการพื้นที่พักพิงศูนย์อพยพบ้านอุ้มเปี้ยม พบว่ามีผู้ที่ยอมรับว่ามีเชื้อสายโรฮินจา 30 ราย เนื่องจากกลุ่มโรฮีนจา ซึ่งเดินทางเข้ามาในพื้นที่ระหว่างปี 2548-2558 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบเชื้อสายมุสลิม ส่วนมากเดินทางมาจากรัฐกะเหรี่ยง และเรียกตัวเองว่า มุสลิมกะเหรี่ยง เป็นมุสลิมชาวพม่า โดยไม่ให้เรียกตัวเองว่า “โรฮีนจา” เนื่องจากภาษาพูด และแหล่งที่มาไม่เหมือนกัน

ที่ประชุมจึงให้คณะกรรมการเร่งดำเนินการส่งข้อมูลผลการตรวจสอบภายในวันนี้ (12 พ.ค.) โดยจัดทำข้อมูลผู้ที่ยอมรับเป็นโรฮีนจาใหม่ทั้งหมดว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อาศัยอยู่ในพื้นที่หรือไม่ ข้อมูลผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบที่เดินทางมาจากรัฐยะไข่ หรือบังกลาเทศมีจำนวนเท่าใด และกลุ่มที่ทาง UNHCR จัดทำข้อมูลผิดพลาด โดยมีหลักฐานยืนยันจำนวนเท่าใด

เพื่อที่จะได้นำข้อมูลเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ให้ฝ่ายปกครองจังหวัดตากดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป เป็นการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ตามนโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี


กำลังโหลดความคิดเห็น