โกลบอลโพสต์ - ชาวโรฮิงญาในพม่า ถูกทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ถูกผลักดันให้ต้องออกจากที่อยู่อาศัยของตัวเอง และถูกกักตัวอยู่ในค่ายสกปรก หลายคนซูบผอมจากการขาดสารอาหาร และเจ็บป่วย ในขณะที่คนส่วนใหญ่มองสภาพของชาวโรฮิงญาเป็นโศกนาฏกรรม แต่สำหรับกลุ่มอัลกออิดะห์มองว่าสิ่งเหล่านี้คือโอกาส
ชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงญาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวระหว่างประเทศ ไม่มีประเทศใดรับคนเหล่านี้เป็นพลเมืองของตัวเอง ชาวโรฮิงญาราว 800,000 คน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทางภาคตะวันตกของพม่า ถูกรัฐบาลพม่าตราว่าเป็นผู้รุกรานมาจากบังกลาเทศ คนบางกลุ่มพยายามกำจัดชาวโรฮิงญาออกจากเมืองด้วยการลอบวางเพลิง และฆาตกรรม ซึ่งหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างฮิวแมนไรท์วอช เรียกเหตุนองเลือดของคนจำนวนมากนี้ว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์”
แต่สำหรับอัลกออิดะห์ เห็นว่าความทุกข์ทรมานเหล่านี้จะทำให้การเรียกตัวชาวมุสลิมโรฮิงญาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเป็นไปโดยง่าย โดยเฉพาะในเวลาที่กลุ่มก่อการร้ายพยายามจะพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มใหม่ในภูมิภาคเอเชียใต้
อัยมาน อัล-ซอวาฮิรี ผู้นำสูงสุดของอัลกออิดะห์ ได้ประกาศผ่านคลิปวิดีโอที่เผยแพร่เมื่อต้นเดือนก.ย. ว่า มีความคิดที่จะหาทางลบพรมแดนที่อังกฤษกำหนดขึ้นเพื่อแบ่งแยกชาวมุสลิมในเอเชียใต้ และต้องการให้ชาวมุสลิมในปากีสถาน อินเดีย บังกลาเทศ และพม่า รวมตัวกันตั้งรัฐเคาะลีฟะฮ์
อัลกออิดะห์ ฝัังรากลึกอยู่ในปากีสถานมายาวนาน มีเครือข่ายหลงเหลืออยู่ในบังกลาเทศ ประเทศที่มีชาวมุสลิมถึง 90% และอินเดีย ประเทศที่มีชาวมุสลิมมากเป็นอันดับสองของโลก แต่อัลกออิดะห์ไม่มีพันธมิตรตั้งอยู่ในพม่า ดินแดนแห่งศาสนาพุทธ ที่ไม่เคยได้รับข้อเสนอจากกลุ่มก่อการร้ายก่อนเกิดวิกฤตโรฮิงญานี้
คำแถลงของกลุ่มตอลิบานในปากีสถานที่เป็นพันธมิตรอัลกออิดะห์ เสนอความช่วยเหลือระบุว่าจะแก้แค้นให้ชาวโรฮิงญา
อัล-ซอวาฮิรี ยืนยันการขยายตัวของอัลกออิดะห์จะเป็นการช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้าย และผู้อ่อนแอ แต่ข้อเสนอของอัลกออิดะห์กลับเป็นการคุกคามกลุ่มชาวมุสลิมในพม่าที่เต็มไปด้วยความยากลำบากอยู่แล้ว
“สิ่งเลวร้ายที่สุดที่สามารถเกิดขึ้นต่อโรฮิงญาคือ พวกเขาถูกสงสัยว่ามีเครือข่ายอัลกออิดะห์” ซิดนีย์ โจนส์ ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์นโยบายของความขัดแย้งจากอินโดนีเซีย กล่าว
พม่านั้นเต็มไปด้วยทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดต่อต้านมุสลิมอยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการได้รับเงินช่วยเหลือจากตะวันออกกลาง ได้รับเงินรางวัลจากการลวงหญิงชาวพุทธ หรือวางแผนที่จะพิชิตประเทศ ซึ่งทฤษฎีความเชื่อเหล่านี้ไม่มีมูลเช่นเดียวกับความคิดที่ว่าคนพวกนี้อันตราย แต่ข่าวลือได้ลุกลามบานปลาย จนเกิดการโจมตีย่านชาวมุสลิมในหลายสิบเมืองทั่วประเทศทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
กลุ่มผู้สนับสนุนอิสลามที่ใหญ่ที่สุดของพม่าประณามข้อเสนอของอัล-ซอวาฮิรี และสมาคมมุสลิมพม่าเรียกอัลกออิดะห์ว่าเป็น “ปฏิปักษ์ทางศีลธรรม” และให้คำมั่นที่จะภักดีต่อประเทศพม่า
คนภายนอกมองว่า ชาวโรฮิงญาเหมาะที่จะขยายกำลังทำญิฮาด แต่ครอบครัวชาวโรฮิงญาที่ถูกต้อนเข้าไปอยู่ในค่ายพักคิดเพียงแค่พยายามเอาชีวิตรอด
“ชาวโรฮิงญาไม่สนใจเกี่ยวกับการทำญิฮาด แต่หากอัลกออิดะห์เสนอความช่วยเหลือสนับสนุนพวกเขาคงรับมันไว้” นักวิเคราะห์จากสถาบันสันติภาพและความขัดแย้งศึกษาในกรุงนิวเดลี กล่าว
นักวิเคราะห์มองว่า ความเคลื่อนไหวของอัลกออิดะห์ครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะป้องกันตำแหน่งการเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่น่ากลัวมากที่สุดในโลก หลังบทบาทของอัลกออิดะห์อ่อนลงเมื่อเทียบกับกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ที่ขยายอิทธิพลควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของซีเรีย และอิรักขณะนี้
แต่ความเป็นไปได้ที่จะตั้งรัฐอิสลามขนาดใหญ่เหนือดินแดนเอเชียใต้เป็นเรื่องยาก เพราะพันธมิตรอัลกออิดะห์ที่กระจัดกระจายในอินเดีย และบังกลาเทศเวลานี้ถูกตรวจสอบโดยกองทัพทหาร ส่วนชาวโรฮิงญาก็อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพทหารพม่าเช่นกัน.