อนาโดลู เอเจนซี - สื่อทางการตุรกีรายงานเมื่อวันศุกร์(25ก.ย.) เจ้าหน้าที่ไทยยืนยันได้ส่งผู้ลี้ภัยมุสลิมโรฮีนจา 29 คนไปยังสหรัฐฯ ส่วนหนึ่งในแผนตั้งรกรากใหม่ หลังผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและพบว่าเป็นผู้หลบหนีการตามประหัตประหาร
สำนักข่าวอนาโดลูรายงานว่าชาวโรฮีนจาเหล่านี้มีทั้งส่วนที่ได้รับความช่วยหลือออกจากค่ายกักกันของขบวนการค้ามนุษย์ รวมถึงพวกที่ขึ้นชายฝั่งไทยตามหลังประเทศต่างๆในอาเซียนดำเนินการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์อย่างหนักในเดือนพฤษภาคม
สื่อทางการตุรกีรายงานโดยอ้างคำสัมภาษณ์ของโฆษกกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของไทย เปิดเผยว่าทั้ง 29 คนจะถูกส่งไปตั้งรกรากใหม่ตามหลังได้พิสูจน์แล้วว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการตามประหัตประหารและไม่ใช่ผู้อพยพทางเศรษฐกิจ
อนาโดลูระบุว่าโฆษกรายดังกล่าวไม่ยอมเปิดเผยชื่อโดยอ้างเป็นนโยบายของกระทรวง แต่บอกว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะถูกส่งไปตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐฯในช่วงปลายเดือน
รายงานของอนาโดลูบอกว่าเวลานี้ผู้ลี้ภัย 29 คน ถูกในศูนย์กักกันผู้อพยพแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ พร้อมอ้างรายงานของบางกอกโพสต์ที่อ้างศูนย์จัดการผู้ลี้ภัยของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯระบุว่า 29 คนที่ได้รับการตั้งรกรากใหม่ มีขึ้นตามการเดินทางออกจากไทยของผู้ลี้ภัย 4 คนเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ตามโครงการด้านมนุษยธรรมซึ่งจัดหาถิ่นฐานตั้งรกรากใหม่แก่ชาวมุสลิมพม่าแล้วกว่า 13,000 คนตั้งแต่ปี 2002
สำนักข่าวอนาโดลูอ้างข้อมูลจากศูนย์กักกัน ระว่ายังต้องดูแลชาวโรฮีนจาอีกกว่า 328 คน ในนั้น 193 คน ได้รับความช่วยเหลือจากขบวนการค้ามนุษย์
นับตั้งแต่ปี 2012 ชาวโรฮีนจา ซึ่งสหประชาชาติมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ถูกตามประหัตประหารมากที่สุดในโลก ได้หลบหนีออกจากพม่าแล้วนับแสนคน ท่ามกลางความรุนแรงที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนบางส่วนระบุว่ามีทางการอยู่เบื้องหลัง
กลุ่มสิทธิมนุษยชนคาดหมายว่า 10 เปอร์เซนต์ของชาวโรฮีนจาทั้งหมดในพม่าประมาณ 1 ล้านคน ได้หลบหนีออกนอกประเทศเพื่อแสวงหาโออกาสที่ดีกว่าในอินโดนีเซียและมาเลเซีย สองชาติที่มีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ ส่วนไทย บ่อยครั้งถูกใช้เป็นทางผ่านของผู้ลี้ภัยที่ประสงค์มุ่งหน้าลงใต้
ตามหลังการค้นพบหลุมฝังศพชาวโรฮีนจากว่า 30 ศพในค่ายกลางป่าแห่งหนึ่งทางภาคใต้ของไทยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ไทยได้ดำเนินการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ จนนำมาซึ่งการจับกุมผู้ต้องสงสัยจำนวนมากในนั้นรวมถึงทหารระดับนายพลนายหนึ่ง
ไม่กี่เดือนต่อมา เรือของพวกขบวนการค้ามนุษย์ไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคนถูกลอยแพกลางทะเล จนเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมระดับภูมิภาค ก่อนสุดท้ายวิกฤตนี้จะคลี่คลายลงไปในวันที่ 20 พฤษภาคม เมื่อมาเลเซียและอินโดนีเซีย ยินยอมให้ชาวโรฮีนจาและบังกลาเทศขึ้นฝั่ง และยอมรับพวกเขาในฐานะผู้ลี้ภัย