เชียงใหม่ - ตามส่องหมู่บ้านจัดการขยะเชียงใหม่ เปิดศาลาประชาคมซื้อเอง-ขายเอง ปลุกจิตสำนึกลูกหลานต่อเนื่อง 8 ปี สอนแยกขยะพิษ ขยะขายได้ ขยะย่อยสลาย จนกลายเป็นวิถีของชุมชน แถมเก็บเงินซื้อกระบะต่อยอดไม่พึ่งรัฐ
วันนี้ (10 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่หลายหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศมีปัญหาเรื่องขยะ บางพื้นที่มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ใช้เป็นเงื่อนไขพยายามเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานขยะ หรือโรงไฟฟ้าจากขยะ จนเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น แต่ที่บ้านแพะขวาง หมู่ 3 ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ มีการจัดการขยะตลาดนัดขยะลดหมอกควัน พยายามปลุกจิตสำนึกลูกหลานในชุมชนให้จัดการขยะ ลดเผาและงบประมาณในการดูแลขยะของชุมชนอย่างต่อเนื่อง
โดยเปิดศาลาอเนกประสงค์ บ้านแพะขวาง หมู่ 3 ต.น้ำแพร่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ในวันที่ 5 ของทุกเดือน ให้เจ้าหน้าที่อาสาของชุมชนชั่งกิโล และรับซื้อขยะจากชาวบ้าน ที่พาลูกหลานนำขยะจากในบ้านของตนเองออกมาขายเป็นประจำ
ส.อ.ไพรินทร์ กาไวย์ ผู้ใหญ่บ้านแพะขวาง หมู่ 3 อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตลาดนัดขยะหมู่บ้านประดับดาว เริ่มโครงการมาเมื่อปี 2550 ตอนนี้เข้าปีที่ 8 แล้ว โดยชาวบ้านจะรู้ดีว่าทุกวันที่ 5 ของเดือนจะมีการรับซื้อขยะและนำขยะของสมาชิกไปขายให้ร้านรับซื้อของเก่า ตอนแรกเริ่มโครงการมีสมาชิกไม่มาก จนมีคนเพิ่มขึ้นมาก มีกำลังเข้มแข็ง จนกลายเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านในการคัดแยกขยะ สอนชาวบ้านคัดเลือกขยะ ขยะมีพิษ ขยะขายได้ ขยะย่อยสลายได้เอาไปทำปุ๋ย
“ตลาดนัดขยะ” เริ่มจากการทำโครงการหมู่บ้านลดการเผา คือทุกเวลาเที่ยงถึงบ่ายสองเป็นเวลาเผา ต่อมาทำตลาดนัดขยะ จึงไม่มีคนเผา กลายเป็นหมู่บ้านลดการเผาไปโดยปริยาย จนได้รับรางวัลหมู่บ้านดีเด่นสิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“จากนั้นเราก็ดึงเยาวชนมาร่วมมาช่วยงานเรา อย่างน้อยเป็นการสานต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้การดูแลขยะในพื้นที่บ้านแพะขวางเป็นชุมชนต้นแบบ ให้เด็กมาดูแลขยะเป็นการดูแลแบบยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น”
โครงการตลาดนัดขยะบ้านแพะขวางไม่ได้เน้นเอากำไร คือ เป็นจิตอาสาชาวบ้านมาช่วยกัน เพราะตนคิดว่าถ้ามีค่าจ้างขึ้นมาโครงการจะอ่อนแอทันที ดังนั้นจึงทำแบบใครว่างก็มาช่วยกัน เงินทีได้ก็เป็นทุนการศึกษาเยาวชน ช่วยผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาสในหมู่บ้าน ตอนนี้ได้เงินจากรางวัล และเงินจากการขายขยะมาซื้อรถกระบะรับซื้อขยะแล้ว
“เงินที่ได้มาก็ซื้อความสุขให้แก่คนในชุมชน เพราะถึงแม้ชุมชนไหนจะมีเงินกองทุนเป็นสิบล้านแต่ไม่นำมาช่วยชาวบ้านก็ไม่มีประโยชน์”
ส.อ.ไพรินทร์บอกว่า โครงการนี้เริ่มต้นโดยชุมชน ไม่ได้พึ่งภาครัฐ หากภาครัฐสนับสนุนแนวคิดของชุมชนตนเป็นต้นแบบ เชื่อว่าปัญหาขยะ และหมอกควันเชียงใหม่จะหมดไป