xs
xsm
sm
md
lg

ชาวกาญจน์จ่อค้านยุบพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้า แฉนำของโบราณไปขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 34 ยังไม่นำมาคืน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายธีระศักดิ์ พิศูจน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (คนซ้ายมือ) และนายภัลลพ ไกรทอง ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี (คนขวามือ)
กาญจนบุรี - ชาวตำบลลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี เริ่มขยับค้านกรมศิลปากรที่มีแนวความคิดจะย้าย-ยุบพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้า 1 ใน 9 ที่กรมศิลปากรเสนอให้ยุบ พร้อมแฉที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ฯ นำของโบราณในพิพิธภัณฑ์โดยอ้างว่าจะนำไปขึ้นทะเบียนตั้งแต่ปี 34 จนป่านนี้ยังไม่นำคืน ผญบ.เรียกประชุมลูกบ้านจันทร์นี้



จากกรณีกรมศิลปากรเสนอให้ยุบพิพิธภัณฑสานแห่งชาติ 9 แห่ง ประกอบด้วย 1.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม 2.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 3.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี 4.พิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี 5.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร กทม. 6.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดเบญจมบพิตร กทม. 7.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระเชตุพน กทม. 8.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดมัชฒิบาวสาส จ.สงขลา และ 9.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มหาวีวงค์ จ.นครราชสีมา ซึ่ง 1 ในพิพิธภัณฑ์ 9 แห่ง มีพิพิธภัณฑสงครามทุ่งลาดหญ้า ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านท่าเสา หมู่ 2 ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมอยู่ด้วย

ล่าสุด เมื่อเวลา 15.00 น.วันนี้ (9 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบ พร้อมกับประสานไปยัง นายธีระศักดิ์ พิศูจน์ อายุ 58 ปี ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน บ้านท่าเสา หมู่ 2 ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และนายภัลลพ ไกรทอง 51 ปี ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี เพื่อขอข้อมูล

โดย นายภัลลพ ไกรทอง ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้า กาญจนบุรี เปิดเผยว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2529-2530 โดยใช้งบประมาณของกรมศิลปากร มีเนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ ต่อมา ประมาณปี 2534 ได้มีการไปขุดวัตถุโบราณที่มีอยู่รอบโบสถ์ของวัดขุนแผน ได้วัตถุโบราณสมัยปลายปีกรุงศรีอยุธยาไปเป็นจำนวนมาก เช่น หม้อบรรจุกระดูกบรรพบุรุษสมัยโบราณประมาณ 600 ใบ แต่ละใบจะมีลักษณะบ่งบอกถึงคนที่มีฐานะในสมัยนั้น ใบเสมา ลักษณะเป็นหินทรายแดงประมาณ 6 ถึง 8 ชิ้น รวมทั้งพระท่ากระดานเนื้อตะกั่ว วัดขุนแผน จำนวนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีวัตถุโบราณอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก

จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรในขณะนั้นได้นำวัตถุโบราณที่ขุดได้ทั้งหมดมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ เก็บไว้ได้เพียงแค่ประมาณ 2 เดือนเท่านั้น ก็ได้ขนย้ายไปเก็บไว้ทีอื่นซึ่งไม่ทราบว่านำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หรือนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ กทม. ซึ่งตนได้สอบถามเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ว่า จะนำวัตถุโบราณทั้งหมดไปไหน ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า จะนำวัตถุโบราณทั้งหมดไปตีทะเบียนให้ถูกต้องผ่านมาแล้วกว่า 20 ปี กรมศิลปากร ก็ยังไม่นำวัตถุโบราณดังกล่าวนำมาไว้ที่เดิม

อีกทั้งยังปล่อยให้อาคารพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้าแห่งนี้ รกร้างทรุดโทรมอย่างที่เห็น ในฐานะเป็นชาวตำบลลาดหญ้า และเป็นผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาตั้งแต่ต้น ก็ต้องการให้กรมศิลปากรเจ้าของพื้นที่ให้มาบูรณะซ่อมแซมพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้าขึ้นมาใหม่ และขอให้นำวัตถุโบราณที่อ้างว่านำไปตีทะเบียนกลับคืนมาไว้ดังเดิม เพื่อให้บุตรหลาย หรือเยาวชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาประวัตถุความเป็นมาของบรรพบุรุษ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าที่กรมศิลปากรได้ประกาศยุบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ด้าน นายธีระศักดิ์ พิศูจน์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 กล่าวว่า ตนเห็นด้วยต่อการที่ นายภัลลพ ไกรทอง ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์กล่าวมาทั้งหมด ขอให้กรมศิลปากรกลับมาบูรณะพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ แล้วนำวัตถุโบราณทั้งหมดกลับมาไว้ที่เดิม เพราะทั้งหมดถือว่าเป็นทรัพย์สินของชาวบ้านท่าเสา ต.ลาดหญ้า และของจังหวัดกาญจนบุรี อีกทั้งยังเป็นทรัพย์สินอันมีค่าของแผ่นดินอีกด้วย

“ผมในฐานะเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไม่เห็นด้วยที่กรมศิลปากร มีแผนจะยุบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ขอขอแนะนำว่า หากกรมศิลปากร ตั้งใจจริงในการบูรณะ รวมทั้งตั้งใจจริงในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทราบข้อมูล รวมทั้งหากปรับปรุง หรือปรับภูมิทัศน์พื้นที่ที่กรมศิลปากรดูแลอยู่ จำนวน 250 ไร่ ให้ดี เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้า เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ชุมชนได้เป็นอย่างดี” นายธีระศักดิ์ กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม หากกรมศิลปากรจะมีการสั่งยุบพิพิธภัณฑ์สงครามทุ่งลาดหญ้าจริง คาดว่าภายในวันจันทร์นี้ ตนจะเรียกชาวบ้านมาประชุมเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนได้แสดงความคิดเห็น หรืออาจจะให้ทุกคนลงประชามติต่อไป หรือหากชาวจังหวัดกาญจนบุรี ต้องการที่จะเข้าร่วม ตน และชาวบ้านท่าเสาก็ยินดี ที่จะให้แสดงความคิดเห็นด้วย เพราะวัตถุโบราณนั้นเป็นของคนไทยทุกคน


กำลังโหลดความคิดเห็น