xs
xsm
sm
md
lg

คนพิษณุโลกค้านด้วย ต้านกรมศิลป์ยุบ “พิพิธภัณฑ์พระพุทธชินราช”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


พิษณุโลก - คนพิษณุโลก รุมค้านยุบ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช” ระดมแนวร่วม ยื่นหนังสือให้ผู้ว่าฯ หวั่นถูกเหมารวมยุบทั้ง 9 จังหวัด ขณะที่จังหวัดจัดงบ 17 ล้าน สร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ภายในวัดใหญ่แล้ว

วันนี้ (8 พ.ค.) นางแน่งน้อย อัศวกิติกร พร้อมชาวพิษณุโลกจำนวนหนึ่งที่รับทราบข่าวจากเฟซบุ๊ก “พิษณุโลกบ้านเรา” ให้เดินทางมารวมตัวกันที่ศาลาประชาคม ภายในศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เพื่อร่วมเวทีเสวนาระดมความคิดเห็นคัดค้านการยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช ไปรวมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตามแนวคิดอธิบดีกรมศิลปากร

นายอมร กิตติกวางทอง วัฒนธรรมจังหวัดพิษณุโลก, น.ส.อภิรดี พิชิตวิทยาภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง ตั้งโต๊ะเสวนาถึงข้อดี ข้อเสีย และเหตุผลในการยุบ-ย้าย ร่วมกับนางแน่งน้อย อัศวกิตติกร ท่ามกลางคนพิษณุโลกแสดงความคิดเห็น และซักถามถึงเหตุผลการยุบ

ขณะที่ พ.อ.เทอดศักดิ์ งามสนอง เสนาธิการกองพลทหารราบที่ 4 กองทัพภาคที่ 3, ปลัดจังหวัดพิษณุโลก และนายอำเภอเมือง ฯลฯ ก็ได้เดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย

จากนั้นตัวแทนประชาชนคนพิษณุโลกได้ยื่นหนังสือระบุถึงผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก มีใจความว่า ตามที่นายบวรเวท รุ่งรุจี อธิบดีกรมศิลปากร มีแนวคิดยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่มีอยู่ในความดูแลของหน่วยงานนอกกรมศิลปากร ซึ่งมีปัญหาการบริหาร การบำรุงรักษา และการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ดูแล โดยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราชเป็น 1 ใน 9 พิพิธภัณฑ์ ที่จะถูกยุบเพื่อนำโบราณวัตถุไปเก็บรวบรวมไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติรามคำแหง

โดยขณะนี้มีการดำเนินการแยกบัญชีโบราณวัตถุที่จะขนย้ายจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราชจำนวน 1,497 ชิ้น ซึ่งเป็นวัตถุโบราณที่รวบรวมได้ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก โดยเฉพาะบริเวณวัดราชบูรณะและโรงเรียนชายบริเวณพระราชวังจันทน์

การดำเนินการและการตัดสินใจยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราชเป็นการตัดสินใจโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจังหวัดพิษณุโลกเป็นการรวมศูนย์อำนาจของส่วนกลาง ที่สวนทางกับภาวะปฏิรูปประเทศไทยที่กระจายอำนาจให้คนในชุมชนท้องถิ่นบริหารจัดการตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางปฏิรูปราชการบนฐานคิด “จังหวัดจัดการตนเอง”

เครือข่ายประชาชนคนพิษณุโลกและภาคีความร่วมมือ ขอประณามการตัดสินใจของอธิบดีกรมศิลปากร นายบวรเวท รุ่งรุจี และขอคัดค้านการยุบรวมขนย้ายโบราณวัตถุที่เป็นสมบัติของชาวพิษณุโลก เครือข่ายประชาชนคนพิษณุโลกและภาคีความร่วมมือ ขอเรียกร้อง ดังนี้

1. ให้ยุติการยุบ ขนย้ายโบราณวัตถุจำนวน 1,497 ชิ้น ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช และขอคำตอบและขอคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรประจำจังหวัดพิษณุโลก

2. ให้มีการยกระดับการพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดพิษณุโลกเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองที่มีวิถีชีวิตวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรมตลอดจนการสร้างฐานความรู้ทางประวัติศาสตร์ของพิษณุโลกของ “สรลวงสองแคว” ให้เกิดสำนึกของคนท้องถิ่น

3. บทบาทของกรมศิลปากรที่จะทำงานในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของภาคประชาชนพิษณุโลก การรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจจากหน่วยงานราชการในส่วนกลางจะเป็นความขัดแย้งกับชุมชนท้องถิ่นดั่งบทเรียนที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนคนพิษณุโลกและภาคีความร่วมมือขอประกาศจุดยืน ไม่เห็นด้วยกับการยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราชที่มีชื่อเป็นมงคลของคนพิษณุโลก และขอให้ยุติแนวคิดแผนการในทันที ให้ฟังเสียงประชาชนคนพิษณุโลกที่เป็นเจ้าของแผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

ต่อมานายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ได้เดินทางมารับหนังสือ พร้อมกับกล่าวเพียงว่า ตนรับหนังสือการคัดค้านการยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราชแล้วจะประสานงานไปยังหน่วยงานกรมศิลปกรต่อไป เพื่อให้รับรู้ถึงเจตนาคนพิษณุโลก ไม่ต้องการให้ยุบ หรือย้ายไปรวมกับสุโขทัย

ด้านนางทองใบ พันธุ์ภูมิพฤกษ์ อดีตหัวหน้าสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพุทธชินราช จ.พิษณุโลก เปิดเผยถึงแนวคิดในการเพิกถอนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 9 แห่ง รวมทั้งพิพิธภัณฑ์พระพุทธชินราช ของกรมศิลปากร ว่าเนื่องจากไม่มีรายได้ ทั้งนี้ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระพุทธชินราช จ.พิษณุโลก เป็นพิพิธภัณฑ์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 2540 ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของจังหวัดพิษณุโลก สิ่งของได้จากผู้มีจิตศรัทธาถวาย รวมทั้งที่ได้จากการขุดแต่ง และบูรณะโบราณสถานในจังหวัดพิษณุโลก เช่น พระพุทธรูป พระพิมพ์ดินเผาสมัยต่างๆ เครื่องถ้วยสังคโลก นับตั้งแต่เปิดไม่ได้มีการจัดเก็บค่าเข้าชมแต่อย่างใด ทำให้ตลอดเวลาไม่มีรายได้ เงินบำรุงพิพิธภัณฑ์ได้รับจากกรมศิลปากร ปีละประมาณ 200,000 บาท ก็เป็นค่าจ้างค่ารับเหมาจัดนิทรรศการ แต่หากยุบจริงๆ ในส่วนของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ก็ได้สร้างพิพิธภัณฑ์ของวัดเอง จะมีการนำสิ่งของมาจัดแสดง โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางจังหวัดพิษณุโลกจำนวน 17 ล้านบาท ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างบริเวณด้านเหนือของวิหารพระพุทธชินราช วางแผนจะเปิดพิพิธภัณฑ์ปี 2559

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวคิดการยุบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้ง 9 แห่งในขณะนี้ดูเหมือนยังเป็นแค่โยนหินถามทาง หากมีการยุบจริง ผู้มีอำนาจสั่งปิดต้องมีอำนาจเหนือกว่าอธิบดีกรมศิลปากร ทำให้ช่วงนี้เกิดกระแสหวงแหงสมบัติของแต่ละจังหวัด เริ่มจาก จ.นครปฐม กระทั่งเครือข่ายประชาชนคนพิษณุโลกในครั้งนี้



กำลังโหลดความคิดเห็น