ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ชุดปฏิบัติการพิเศษ ก.ยุติธรรม พร้อมทหาร ทภ.2 และหน่วยงานเกี่ยวข้องลุยเขาใหญ่ บุกตรวจแจ้งจับบ้าน “นายช่างรังวัด ส.ป.ก.” โคราชแสบฮุบป่ากว่า 130 ไร่ จัดสรรขายให้บิ๊ก ขรก.-ตร. ไร่ละกว่า 10 ล้านบาท พบเจ้าหน้าที่เอี่ยวทุจริต 9 คน รวมทั้ง ส.ป.ก.สระบุรีด้วย ก่อนลุยตรวจ “คีรีมายา รีสอร์ต” กว่า 1,696 ไร่ พบที่มาของโฉนดออกมิชอบทับที่ ส.ป.ก. 644 ไร่ ทับร่องน้ำ 163 ไร่ และทางสาธารณะอีก 48 ไร่ อีกทั้งใช้ประโยชน์ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ ด้านคีรีมายายันได้มาถูกต้องพร้อมให้ตรวจสอบ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (28 เม.ย.) ชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงยุติธรรม ร่วมกับกรมป่าไม้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตำรวจภูธรภาค 3 สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นำโดย พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม, พ.อ.สมหมาย บุษบา หัวหน้าคณะทำงานเพื่อความมั่นคงกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองทัพภาคที่ 2, นายไพทูรย์ บุญสุขวีระวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันและปราบปรามภาคอีสาน กรมป่าไม้ และ พ.ต.อ.สิทธิโรจน์ นพโพธิพงศ์ รองผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผบก.ปทส), นายชำนาญ กลิ่นจันทน์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา, พล.ต.ต.ธเนษฐ สุนทรสุข รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 และคณะ
รวมทั้งกองทัพสื่อมวลชนได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบพื้นที่โครงการบริษัท คีรีมายา จำกัด ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา หลังก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ครั้งแรกตรวจสอบสนามแข่งรถ โบนันซ่า อินเตอร์เนชั่นแนล สปีดเวย์ ไปแล้ว
โดยจุดแรกคณะของ พ.ต.อ.ดุษฎีได้เดินทางไปยังที่ดินของนางพรทวี สุตันติราษฎร์ นายช่างรังวัด ส.ป.ก.นครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 4 ตรงข้ามภูพบฟ้า ใกล้ทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และ ส.ป.ก.ก่อน แต่ไม่พบมีผู้มาแสดงตนเป็นเจ้าของ มีเพียงบ้านพัก ลักษณะปลูกสร้างเป็นรีสอร์ตชั้นเดียวตั้งอยู่ติดตีนเขา และพื้นที่โดยรอบกำลังมีการถมดินปรับพื้นที่ รวมทั้งมีการสร้างบ้านพักหรูหลังใหญ่สีขาวอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกันด้วย
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทราบว่า นางพรทวีได้นำ ส.ค.1 เลขที่ 19 หมู่ 4 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งมีเนื้อที่ 30 ไร่ นำมาออกโฉนดที่ดิน เนื้อที่กว่า 155 ไร่ โดยออกในนามชื่อสามีของตัวเอง และได้ออกโฉนดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดิน ส.ป.ก.มากกว่า 130 ไร่ และมีการจัดสรรขายให้แก่ข้าราชการหลายคน รวมทั้งนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ราคาไร่ละกว่า 10 ล้านบาท
จากการตรวจสอบ ส.ค.1 แปลงดังกล่าวมีพื้นที่ข้างเคียงจดป่า ซึ่งตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินให้ถือระยะตามที่ระบุไว้ในหลักฐาน ส.ค.1 ซึ่งกรณีนี้หากถือตามระยะจะออกโฉนดที่ดินได้ 25 ไร่เท่านั้น แต่มีการร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.และเจ้าหน้าที่เดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่มีปัญหาร่วมกันออกเอกสารสิทธิเขาหนองเชื่อม และเป็นพื้นที่ทหารพันรบพิเศษลพบุรี ทุจริตออกโฉนดที่ดินครั้งนี้ ซึ่งขบวนการทุจริตในเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องรวม 9 คน ซึ่งมีปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระบุรี (ขณะนั้นเป็นนิติกรชำนาญการพิเศษ ส.ป.ก.) รวมอยู่ด้วย
จากนั้นคณะของ พ.ต.อ.ดุษฎีได้เดินทางต่อไปยังโครงการ คีรีมายา โดยมีนายอรัฐ เศวตะทัต กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาโครงการบริษัท คีรีมายา จำกัด และนายประกาศ ตันติประเสริฐสุข ผู้จัดการทั่วไปโครงการ บริษัท คีรีมายา จำกัด ให้การต้อนรับและชี้แจงความเป็นมาของที่ดินในโครงการพร้อมนำคณะลงตรวจสอบพื้นที่
ขณะเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบบริเวณลำรางพบกำลังมีการก่อสร้างอาคารโรงแรม ซึ่งสร้างในลักษณะคร่อมลำรางสาธารณะ และปิดกั้นทางน้ำชัดเจนอยู่นั้น น.ส.ภัคมล กิจศิริกุล ได้นำเอกสารการครอบครองที่ดิน ภบท.5 ในพื้นที่ หมู่ 4 ตรงข้ามภูพบฟ้า (กรณีเจ้าหน้าที่เข้าตรวจจุดที่ 1) รวม 5 ไร่มาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ ซึ่งกำลังเดินตรวจในโครงการคีรีมายาด้วย โดยอ้างว่าเป็นญาติกับนางพรทวี ซึ่งเจ้าหน้าที่นำตัวไปสอบสวนและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า การลงพื้นที่วันนี้ของชุดปฏิบัติการพิเศษกระทรวงยุติธรรมมีเป้าหมาย 2 จุด ซึ่งจุดแรกชัดเจนเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้กระทำผิด ซึ่งได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.หมูสี แล้ว
ส่วนกรณีของคีรีมายานั้น จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีเนื้อที่ประมาณ 1,696 ไร่ (แบ่งเป็นที่นิคมสร้างตนเองลำตะคอง 1,052 ไร่, อยู่ในเขต ส.ป.ก. 644 ไร่) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการออกเอกสารสิทธิที่ดินมาจาก 3 กลุ่ม คือ ออกเอกสารสิทธิสืบเนื่องมาจาก น.ค.3 ในเขตของนิคมสร้างตนเองลำตะคอง หากมองด้านการออกเอกสารสิทธิที่ดินถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่พื้นที่นิคมฯ นั้นกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะออกให้แก่ผู้ที่เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีคุณสมบัติครบถ้วน เมื่อพ้นข้อกำหนดห้ามโอนบุคคลที่ซื้อที่ดินจะต้องทำประโยชน์เฉพาะเพื่อการเกษตรเท่านั้นจะทำอย่างอื่นได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดี ซึ่งกรณีของคีรีมายาได้รับอนุญาตจากอธิบดีเพื่อทำสนามกอล์ฟ แต่ไม่อนุญาตให้ดำเนินการบ้านจัดสรรแต่อย่างใด
2. ออกเอกสารสิทธิที่ดินสืบเนื่องมาจาก น.ค.3 นอกเขตนิคมฯ ไปทับที่ ส.ป.ก.จำนวน 644 ไร่ ซึ่งเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปรับถมดินทับร่องน้ำสาธารณประโยชน์ 163 ไร่ ทับทางสาธารณประโยชน์อีก 48 ไร่ ซึ่งจะให้ทางคีรีมายานำหลักฐานต่างๆ มาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่
ด้านนายอรัฐ เศวตะทัต กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาโครงการบริษัท คีรีมายา จำกัด กล่าวชี้แจงว่า น.ส. 3 ก. ทุกแปลงในโครงการคีรีมายา ทั้งหมด 50 แปลงมีแหล่งที่มา 2 ส่วน แบ่งเป็น 36 แปลงที่บริษัทได้ซื้อทรัพย์สินมา เป็นโครงการสนามกอล์ฟ พร้อมกิจการมาจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2545 และบริษัทฯ ได้รับส่งมอบการครอบครองทำประโยชน์พร้อมเอกสารสิทธิครบถ้วน และอีก 14 แปลงมาจากการเสนอขายที่ดินของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) ซึ่งจัดตั้งตามแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของกระทรวงการคลัง
จึงสรุปว่า การได้มาของที่ดินทั้ง 2 ส่วนล้วนมาจากหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น และยืนยันว่าไม่มีที่ดินแปลงใดในโครงการฯ ที่ซื้อมาจากบุคคลหรือชาวบ้านเลยแม้แต่แปลงเดียว ปัจจุบันบริษัทฯ ได้นำที่ดิน น.ส. 3 ก. จำนวนหลายแปลงมาออกโฉนด ตลอดจนดำเนินการขออนุญาตจัดสรรที่ดินและได้มีการจำหน่ายและโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่บุคคลภายนอกเรื่อยมาตั้งแต่ได้รับมอบที่ดินทั้ง 2 ส่วน
สำหรับประเด็นการบุกรุกที่ดินของ ส.ป.ก.นั้น ทางโครงการคีรีมายาได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าที่ดินทุกแปลงในโครงการมีเอกสารสิทธิที่ได้มาก่อนการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินปี 2534
อนึ่ง โครงการคีรีมายา ซึ่งแต่เดิมเป็นโครงการสนามกอล์ฟเขาใหญ่คันทรีคลับมาก่อนนั้น ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2533 โดยมีเอกสารสิทธิ น.ส. 3 ก. เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน จึงยืนยันได้ว่าเอกสารสิทธิดังกล่าวจะต้องได้รับมาก่อนปี 2533 และในกรณีการปิดกั้นลำรางสาธารณะ บริษัทยืนยันว่าลำรางสาธารณะในโครงการทั้งหมดยังคงอยู่ครบถ้วน บริษัทฯ ไม่เคยทำการก่อสร้างใดๆ เพื่อปิดกั้นทางน้ำ หรือทำให้ลำรางสาธารณะหายไปแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ทางโครงการพร้อมให้ความร่วมมือ และอยากให้ภาครัฐได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ชัดเจนไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นทางโครงการก็พร้อม แต่ได้เตรียมทนายความเพื่อดูเรื่องกฎหมายเนื่องจากบางพื้นที่ได้มีการส่งมอบให้ลูกบ้านไปแล้วก็จะมีผู้ได้รับผลกระทบด้วย และหากต้องคืนพื้นที่คงจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากภาครัฐต่อไป เพราะทางโครงการไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาสร้างปัญหาแต่อย่างใด