บุรีรัมย์ - สมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์ กว่า 300 ราย รวมตัวบุกสำนักงานแห่ถอนเงินฝากสะสม และเงินสัจจะ พร้อมจี้ตรวจสอบบัญชีรับจ่ายเชื่อไม่โปร่งใส หลังเงินกองทุน และเงินออมที่เชื่อว่ามีเกือบ 100 ล้าน หมดเกลี้ยง กรรมการฯ อ้างขาดสภาพคล่อง ด้านพัฒนาการชุมชนเร่งเข้าเจรจา รับปากเร่งตรวจสอบ และแก้ปัญหา
วันนี้ (17 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านตะโก ต.อิสานเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ กว่า 300 คน ได้นำเอกสารหลักฐานการฝากออมเงินมารวมตัวที่สถาบันการจัดการเงินทุนชุมชนบ้านตะโก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มออมทรัพย์ดังกล่าว เพื่อขอถอนเงินฝากสะสม และเงินสัจจะรายละ ตั้งแต่ 50,000-600,000 บาท หลังจากทราบว่าเงินกองทุนที่ได้จากการออม เงินฝากสัจจะรายเดือน และเงินฝากสัจจะพิเศษของสมาชิก ตั้งแต่ก่อตั้งกลุ่มมาเมื่อปี 2527 จนถึงปัจจุบันร่วม 30 ปี ที่คาดว่ามีเงินอยู่ร่วม 100 ล้านบาท หมดเกลี้ยง ทำให้ไม่มีเงินจ่ายให้แก่สมาชิก
โดยทางกรรมการฯ อ้างว่า สาเหตุที่ไม่มีเงินจ่ายให้แก่สมาชิกเนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการบริหารจัดการ เพราะที่ผ่านมา ได้จ่ายเงินปันผล และดอกเบี้ยเงินสัจจะรายปีให้แก่สมาชิกในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 20 ต่อปี แต่ไม่ได้ชี้แจงให้สมาชิกทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
จากกรณีดังกล่าว ได้สร้างความคลางแคลงใจให้แก่สมาชิก ทั้งเชื่อว่ามีการบริหารจัดการไม่โปร่งใส จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมถึงการบริหารงานของกรรมการฯ ว่า มีความโปร่งใสหรือไม่ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้สมาชิกทราบ แต่หากพบว่ามีการบริหารไม่โปร่งใสส่อทุจริตก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และให้นำเงินมาคืนให้แก่สมาชิกทุกคนด้วย
นายกิตติ สุขสกุล อายุ 53 ปี หนึ่งในสมาชิกกลุ่มดังกล่าว ระบุว่า กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านตะโกดังกล่าว ได้ก่อตั้งขึ้นภายใต้การส่งเสริมของสำนักงานพัฒนาชุมชนเพื่อให้ชาวบ้านรู้จักการออม และมีอาชีพ มีรายได้มาตั้งแต่ปี 2527 โดยได้รวมกลุ่มกันเปิดโรงสีข้าว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ไข่ ผลิตมูลสุกร บริการให้เช่าเต็นท์ และถ้วยชาม เพื่อหารายได้เข้ากลุ่ม ปัจจุบันมีชาวบ้านในพื้นที่ อ.เฉลิมพระเกียรติ ประโคนชัย นางรอง และ อ.ละหานทราย เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกมากกว่า 4,000 คน แต่ละคนมีเงินฝากสะสม และเงินสัจจะรายละ 50,000-600,000 บาท
ต่อมา นายปรีชา พรหมบุตร พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่มารับฟังปัญหา พร้อมทั้งร่วมพูดคุยกับคณะกรรมการฯ และตัวแทนชาวบ้านที่เป็นสมาชิกเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยเบื้องต้นจะได้ประสานสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ให้เข้ามาตรวจสอบบัญชีรายรับ-รายจ่ายของกลุ่มเพื่อหาข้อบกพร่องผิดพลาดในการบริหารจัดการของกลุ่ม และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป