ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ม.ราชภัฏโคราชเอาจริง! คณาจารย์-บุคคลากรร่วมมือจัดตั้ง“องค์กรต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน”นำร่องเป็นแห่งแรกของมหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่งทั่วประเทศ เผย “ดร.สามารถ จับโจร” ประเดิมนั่งประธานนำทัพปักธงต้านโกง ขณะ“อธิการบดี” เป็นประธานที่ปรึกษาด้วยตัวเอง พร้อมขับเคลื่อนทุกภาคส่วนรณรงค์ต่อต้าน ป้องกันและปราบปรามทุจริตทุกรูปแบบ
วันนี้ ( 3 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ที่ห้องประชุมรัตนเพียร อาคาร 9 ชั้น 2 สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา กลุ่มคณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัย กว่า 50 คน นำโดย รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา ผศ.ดร.สามารถ จับโจร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป รศ.ดร.พุฒิพงศ์ สัตยวงศ์ทิพย์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และผศ.สกุล วงษ์กาฬสินธุ์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้ง นายมงคล สาริสุดผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ประจำจังหวัดนครราชสีมา ได้ประชุมร่วมกันเพื่อจัดตั้ง“องค์กรต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” ขึ้น พร้อมคัดเลือกผู้นำองค์กรและคณะกรรมการดำเนินงาน ก่อนเปิดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ
ในที่ประชุม มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก ผศ.ดร.สามารถ จับโจร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป เป็นประธานองค์กรต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา , รศ.ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา เป็นประธานที่ปรึกษา, รศ.ดร.พุฒิพงศ์ สัตยวงศ์ทิพย์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ , ผศ.สกุล วงษ์กาฬสินธุ์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์ฯ เป็นที่ปรึกษา
ส่วนรองประธาน ประกอบด้วย ดร.จินวัฒน์ มานะเสถียร , ดร.เศรษฐวัตน์ โชควรกุล อาจารย์โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ เป็นต้น พร้อมคณะดำเนินงาน ประกอบไปด้วย ตัวแทนคณาจารย์ นักศึกษาและ บุคลากร ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
ผศ.ดร.สามารถ จับโจร ในฐานะ ประธานองค์กรต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยเป็นภัยคุกคามที่สั่งสมมานานและทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลขององค์กรต้านคอร์รัปชัน ในปี 2556 ประเทศไทยสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปกับการทุจริตคอร์รัปชัน มากกว่า 3 แสนล้านบาท ทำให้การพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง สังคม เศรษฐกิจ เสียหายและเกิดผลร้ายต่อประชาชนคนของชาติอย่างใหญ่หลวง
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นสถาบันการศึกษาท้องถิ่นที่ผลิตบัณฑิตไปรับใช้สังคม อย่างมากมายในปัจจุบัน การปลุกจิตสำนึกให้นักศึกษา คณาจารย์ บุคลากรของมหาวิทยาลัยตระหนักรู้ถึงภัยร้ายและปัญหาที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นหน้าที่และพันธกิจหลักที่ต้องส่งเสริมและรณรงค์ป้องกัน เพื่อไม่ให้การคอร์รัปชันเกิดขึ้นแก่หน่วยงาน องค์กร และมหาวิทยาลัย
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องจัดตั้ง “องค์กรต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” ขึ้น ซึ่งถือเป็นการนำร่องจัดตั้งขึ้นเป็นแห่งแรกของมหาวิทยาลัยราชภัฏ กว่า 40 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ และสังคมไทย ต่อไปในภายภาคหน้า
ผศ.ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า องค์กรต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นี้ จะจัดตั้งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยภายใต้การควบคุมบริหารโดยอธิการบดีเพื่อเป็นหน่วยงาน องค์กรที่ทำการศึกษาวิจัย พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสอบนโยบาย ตลอดทั้งโครงการที่มีแนวโน้มต่อการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งเพื่อเสนอนโยบายและมาตรการในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันแก่หน่วยงานมหาวิทยาลัย เพื่อรณรงค์ให้เห็นพิษภัยผลร้ายที่เกิดจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่นิสิต นักศึกษา และบุคลากรของมหาวิทยาลัย และเสริมสร้างธรรมภิบาล ค่านิยมที่ดีงาม ให้ก่อเกิดแก่บุคลากรนิสิต นักศึกษา ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง
สำหรับอำนาจหน้าที่ มีดังนี้ 1.ทำการค้นคว้า วิจัยและประมวลผลโครงการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมทั้งหาแนวร่วมเพื่อประสานงานในการหามาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในมหาวิทยาลัย
2.รณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบพร้อมขยายเครือข่ายองค์กรร่วมกับภาคเอกชน ประชาชน ให้เห็นผลถึงพิษภัยร้ายในการทุจริตคอร์รัปชัน
3.สร้างภูมิคุ้มกันให้เกิดแก่บุคลากรของมหาวิทยาลัยให้เห็นพิษภัยร้ายเพื่อให้ปลอดจากการทุจริตคอร์รัปชัน
4.หน้าที่อื่นๆ ตามที่มหาวิทยาลัยมอบหมาย
“การทุจริตคอร์รัปชันเป็นภัยคุกคามเพาะบ่มเชื้อร้ายในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แผลเรื้อรังเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมหันตภัย และการโกงชาติ ที่เกิดจากการทุจริตคอรัปชั่นทำให้ประเทศไทยไม่พัฒนามาอย่างที่ควรจะเป็น ถึงเวลาแล้วที่เราจะร่วมมือประสานใจต่อสู้กับพิษภัยร้ายในการคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาดต่อไป” ผศ.ดร.สามารถ กล่าวในตอนท้าย