เชียงใหม่/พะเยา - เตรียมผุดทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ เชื่อมระหว่างเมืองแนวใหม่ผ่านเชียงใหม่ ลำปาง พะเยา เชียงราย เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย พม่า ลาว จีนตอนใต้
วันนี้ (2 เม.ย.) ที่ห้องประชุมภูกามยาว ศาลากลางจังหวัดพะเยา ร.ต.สุวิชา แก้วมณี รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา เป็นประธานการประชุมสรุปแนวทางเลือก และรูปแบบโครงการเบื้องต้นที่เหมาะสม โครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แผนการลงทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองแนวใหม่สายเชียงใหม่-เชียงราย
ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 55 ที่ จ.เชียงใหม่ มีมติเห็นชอบในหลักการ เพราะเป็นเส้นทางที่มีความสำคัญเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค เชื่อมโยงระหว่างเมืองศูนย์กลางภาคเหนือ และประเทศเพื่อนบ้านในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจไทย พม่า ลาว และจีนตอนใต้ ส่งผลต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค
ผศ.วิวัฒน์ อังศุสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของโครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและแผนการลงทุนของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายเชียงใหม่-เชียงราย-ลำปาง-พะเยา โดยครั้งนี้จะเป็นการสรุปแนวทางและรูปแบบโครงการเบื้องต้นที่เหมาะสม และมีการลงลึกในรายละเอียดของแต่ละเส้นทางที่พาดผ่าน ซึ่งยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้
โดยโครงการได้แบ่งแนวเส้นทางออกเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 เส้นทางเชื่อมลำปางกับเชียงใหม่ เริ่มต้นที่ ต.แจ้ซ้อน-อ.เมืองปาน มาทางทิศตะวันตก-ต.เมืองปาน-ออนเหนือ-บ้านสหกรณ์-แม่โป่ง-แม่ฮ้อยเงิน-ป่าป้อง-สง่าบ้าน-ตลาดใหญ่-ป่าลาน-สำราญราษฎร์ สิ้นสุดที่ ต.สันปูเลย ออยสะเก็ด ระยะทาง 51.44 กิโลเมตร
ช่วงที่ 2 เส้นทางเชื่อมเชียงรายกับพะเยา เริ่มต้นที่ ต.ทานตะวัน อ.พาน มาทางทิศใต้-ต.บ้านเหล่า-ป่าแฝก-เจริญราษฎร์-ศรีถ้อย-แม่ใจ-แม่สุก-บ้านใหม่-ท่าจำปี-บ้านต๊ำ-ทุ่งฮั้ว-วังซ้าย-วังเหนือ-วังใต้-ร่องเคาะ สิ้นสุดที่ ต.แม่สุก อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง รวมระยะทาง 82.30 กิโลเมตร
เมื่อเส้นทางทั้งสองช่วงลุล่วงไปแล้ว ทั้งหมดจะเชื่อมกันทั้งทิศตะวันออกมายังทิศตะวันตก และจากทิศเหนือมายังทิศใต้ โดยแนวเส้นทางเริ่มจากตัวเมืองเชียงใหม่ เชื่อมโยงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านอำเภอดอยสะเก็ด อำเภอแม่ออน อำเภอเมืองปาน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอวังเหนือ อำเภอเมืองพะเยา อำเภอแม่ใจ อำเภอพาน อำเภอเมืองเชียงราย และอำเภอเวียงชัย สิ้นสุดที่ตัวเมืองจังหวัดเชียงราย ระยะทางประมาณ 185 กม.
รูปแบบโครงการเบื้องต้นเป็นไปตามมาตรฐานทางหลวงพิเศษ มีรั้วกั้นตลอดเส้นทางเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ยกเว้นทางเชื่อม รูปแบบทางเป็นไปตามสภาพภูมิประเทศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีรูปแบบถนนพื้นราบ รูปแบบสะพาน และรูปแบบอุโมงค์ แนวเส้นทางที่ตัดผ่านชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม จะมีการก่อสร้างทางบริการในลักษณะทางลอด ทางเชื่อม ให้ประชาชนสามารถเดินทางเชื่อมต่อกันได้
สำหรับเส้นทางที่ผ่านจังหวัดพะเยาจะมีแนวอุโมงค์ลอดดอยหลวง ระยะทาง 5 กม. ลงไปเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 1 ที่อำเภอแม่ใจ
เมื่อมีโครงการดังกล่าวจะสามารถลดเวลาเดินทางเชียงใหม่-เชียงราย ได้ 45 นาที หรือจากพะเยา-เชียงราย ลดเวลาลงได้ 40 นาที และจากลำปาง-เชียงราย ลดเวลาลง 1 ชั่วโมงเศษ เมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางบนทางหมายเลข 118 โดยเส้นทางสายดังกล่าวอาจจะไม่ใช่หรือไม่ได้สร้างในลักษณะที่แสดงไว้ทั้งหมด เพราะยังมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้