xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่เล็งตั้งเขต ศก.พิเศษโคราช ชูศักยภาพ “เกษตร-อุตฯ”-หอฯดันฮับลอจิสติกส์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“โคราช” รับโชค เล็งปั้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ชูได้เปรียบที่เป็นประตูสู่ภาคอีสาน รัฐบาล “ประยุทธ์” ให้ความสำคัญเดินหน้าทั้งมอเตอร์เวย์-รถไฟรางคู่ ปูฐานไปสู่มุกดาหาร หอการค้ารับโคราชแค่ Hub logistic เชื่อมอีสาน-กรุงเทพฯ และมาบตาพุด นอกจากมีนิคมอุตสาหกรรมแล้วอีกไม่นานเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ด้านสภาพัฒน์ยันเขตเศรษฐกิจเวลานี้เน้นที่ชายแดน ส่วนพื้นที่ชั้นในเป็นเรื่องอนาคต
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
การเข้ามาบริหารประเทศแทนรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยโดยหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี ภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดอย่างนี้ ผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันสำหรับรัฐบาลที่เข้ามาเพื่อยุติปัญหาทางการเมือง เท่าที่เห็นในเวลานี้คงเป็นเรื่องของการเร่งผลักดันให้มีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลได้อนุมัติแล้วในพื้นที่ 5 จังหวัด

ประกอบด้วยอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด โดยรัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านั้นที่มีโอกาสอยู่แล้ว ให้เป็นฐานการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและภูมิภาค โดยจะพัฒนาให้มีระบบลอจิสติกส์ที่เชื่อมโยงทั่วถึง การวางผังเมืองที่เหมาะสมและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

อย่างไรก็ตาม จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นจังหวัดที่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เห็นได้จากพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ 21 ธันวาคม 2557 โดยกล่าวถึงความสำคัญของจังหวัดนี้ว่าเป็นประตูสู่ภาคอีสาน โดยจังหวัดมีแผนที่จะพัฒนาให้โคราชเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภูมิภาค

มีทั้งโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ หรือมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-มวกเหล็ก-นครราชสีมา ซึ่งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุน คาดว่าเส้นทางนี้จะเกิดขึ้นช่วงปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559

นอกจากนี้ยังมีรถไฟรางคู่ ที่รัฐบาลไทยกับจีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) เมื่อ 19 ธันวาคม 2557 ที่จะพัฒนาเส้นทางรถไฟสายหนองคาย-ขอนแก่น-นครราชสีมา-แก่งคอย-กรุงเทพฯ และแก่งคอย-มาบตาพุด จังหวัดระยอง เรียบร้อย โดยในปี 2558 ทั้งปีจะเป็นการสำรวจออกแบบ และจะเริ่มก่อสร้างได้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ในเดือน ต.ค.-ธ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้างทั้ง 2 เส้นทางนี้ คือ ระยะทาง 734 กิโลเมตร กับ 133 กิโลเมตร รวมเป็น 867 กิโลเมตร คาดใช้เวลา 4 ปี

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงพื้นที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อติดตามการบริหารจัดการข้าวและพบปะพูดคุยกับเกษตรกร เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ด้วยศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมาจึงกลายเป็นพื้นที่ที่น่าจับตาว่า โคราชอาจจะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับการยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นเดียวกับอีก 5 จังหวัดที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไปก่อนหน้านี้
เขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัด
ที่มาเขตเศรษฐกิจพิเศษ

แหล่งข่าวจากรัฐบาลกล่าวว่า ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐบาลชุดนี้คือมีระยะเวลาในการแก้ปัญหาของประเทศได้ไม่นาน การทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันจึงทำได้ลำบาก ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการแก้ไขกฎหมาย ซึ่งกฎหมายทั้งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติกำลังดำเนินการอยู่ในเวลานี้เป็นเพียงการแก้ไขกฎหมายเดิมที่เคยเป็นปัญหาเป็นหลัก

ขณะที่แนวทางในการแก้ปัญหาอื่นๆ ยังติดขัด เป็นไปด้วยความล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของความกังวลว่าการดำเนินตามมาตรการที่ออกมานั้นอาจจะผิดหลักเกณฑ์หรือมีโอกาสส่อไปในทางทุจริต ทำให้ผลงานจึงออกมาน้อยและหลายเรื่องล่าช้าแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ได้ประสิทธิภาพมากนัก

ภายใต้สถานการณ์ในขณะนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่พิเศษกว่าช่วงปกติ หลายอย่างไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์ปกติ รัฐบาลจึงมีแนวคิดที่จะทำในบางสิ่งบางอย่างที่สามารถดำเนินการได้เร็วภายใต้อำนาจที่มีอยู่ในเวลานี้ และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวไปในตัว

การนำเอาแผนในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมาปรับใช้ผสมผสานกับแนวทางการสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ที่มีประโยชน์ในทางเศรษฐกิจที่จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของประเทศในระยะยาว และแก้ปัญหาเรื่องของแรงงานที่ขาดแคลน จึงเป็นเรื่องที่ควรเร่งผลักดัน อีกทั้งยังเป็นการมองไปถึงการเชื่อมต่อจากการเปิดประชาคมอาเซียนเข้าไปด้วย

เขตเศรษฐกิจพิเศษจึงเป็นจุดที่ลงตัวที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในเวลานี้

จะเห็นได้ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้เดินตามแนวทางดังกล่าว ด้วยการวางพื้นที่ที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น 5 จังหวัดบริเวณชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

“เรื่องแบบนี้ถ้าเป็นรัฐบาลปกติ การจะเดินมาตรการต่างๆ จะมีอุปสรรคเยอะ มีเรื่องการคัดค้านหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในเวลานี้ถือว่าเป็นประโยชน์ในระยะยาวกับประเทศ”

อย่างพื้นที่ในภาคอีสาน เป้าหมายคือที่มุกดาหารที่จะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การกำหนดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องมีองค์ประกอบอื่นเข้ามารองรับ เช่น เรื่องสาธารณูปโภคและระบบขนส่งต่างๆ ต้องมีความพร้อม

การที่จะทำให้มุกดาหารเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ ต้องมีการคมนาคมที่ติดต่อกับพื้นที่สำคัญได้อย่างกรุงเทพฯ หรือเชื่อมต่อไปยังท่าเรือในภาคตะวันออกได้เพื่อขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ การพัฒนาเส้นทางดังกล่าวถึงต้องดำเนินการตั้งแต่พื้นที่กรุงเทพฯ ไปจนถึงมุกดาหาร และเป้าหมายหลักของเส้นทางที่จะไปสู่พื้นที่ภาคอีสานก็ต้องดำเนินการผ่านนครราชสีมา ซึ่งถือว่าเป็นประตูสู่จังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย

เห็นได้จากระบบคมนาคมตอนนี้ทุ่มไปยังพื้นที่โคราชเป็นลำดับแรก ทั้งเรื่องของมอเตอร์เวย์และรถไฟทางคู่ที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการไปแล้ว
ความเจริญด้านคมนาคมขนส่ง ที่รัฐบาลทุ่มลงไปจังหวัดนครราชสีมา
โคราชยังแค่ Hub Logistic

นายจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดเราคงยังไม่ถึงขนาดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพียงแต่โคราชเป็นประตูของภาคอีสาน ดังนั้นหากต้องการพัฒนาพื้นที่ในภาคอีสานอีก 20 จังหวัด ก็ต้องเริ่มต้นที่โคราชก่อน

ก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาพบว่าจุดเชื่อมต่อไปยังเพื่อนบ้านรอบประเทศไทย เส้นทางอีสานเป็นจุดลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด และยังเชื่อมต่อไปยังประเทศจีนได้ ดังนั้นโคราชจึงได้รับการพัฒนาตามไปด้วย

“เราเป็น Hub ด้าน Logistic เพื่อเชื่อมลาว กัมพูชา เวียดนามและจีนตอนใต้ โดยในพื้นที่ของนครราชสีมายังเป็นพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมด้านชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมเกษตร”

ดังนั้นที่โคราชยังคงต้องการสาธารณูปโภคพื้นฐานอีกหลายจุดตามที่เคยเสนอรัฐบาลไปก่อนหน้านี้

สอดคล้องกับแหล่งข่าวในพื้นที่นครราชสีมาที่กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลนี้กำหนดมาในพื้นที่ภาคอีสานนั้นคือจังหวัดมุกดาหาร เนื่องจากมีตัวเชื่อมต่อไปยังลาวโดยสะพานมิตรภาพ จริงๆ อีกที่อย่างจังหวัดสุรินทร์ก็ต้องการเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเช่นกัน เพราะมีด่านช่องจอม เชื่อมกับประเทศกัมพูชา

“โคราชคงเป็นเพียง Hub Logistic เป็นศูนย์กลางของ East-West Corridor ที่เป็นเส้นทางเชื่อมระหว่างฝั่งตะวันตกและตะวันออกของ 4 ชาติ คือ เวียดนาม ลาว ไทย และพม่า จุดเด่นของโคราชนั้นเป็นเมืองอุตสาหกรรม มีนิคมอุตสาหกรรม เกษตรแปรรูปเป็นพลังงาน ศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินหนองเต็ง”

ทั้งที่จริงโคราชมีความพร้อมในทุกๆ ด้านที่สามารถยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ มีทั้งสนามบินนครราชสีมา มหาวิทยาลัยหลายแห่ง นิคมอุตสาหกรรมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ปศุสัตว์ ผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งด้านการท่องเที่ยว ถือว่ามีครบทุกองค์ประกอบเกือบทุกด้าน เหลือเพียงแค่การสนับสนุนเพื่อยกระดับให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น

ขณะที่เจ้าหน้าที่ในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องของเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีที่เน้นในพื้นที่ริมชายแดนเป็นหลักก่อน ส่วนในอนาคตจะขยายเข้ามาในพื้นที่ชั้นในคงต้องรอความพร้อมและรอนโยบายรัฐบาลอีกครั้ง

จากนี้ไปโคราชแม้จะไม่ใช่เขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่การที่ไม่ว่ารัฐบาลใดจะเปิดพื้นที่ภาคอีสาน เพื่อพัฒนาในรูปแบบใด สุดท้ายย่อมไม่อาจละเลยที่ต้องให้ความสำเร็จกับโคราชก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อสานต่อยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไปยังพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมดของไทย

กำลังโหลดความคิดเห็น