ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง จับมือท่าเรือเซินเจิ้น ร่วมหารือความร่วมมือท่าเรือพี่น้อง เพื่อมุ่งเน้นความร่วมมือ ส่งเสริมและพัฒนาด้านการบริหารจัดการท่าเรือ ความร่วมมือในการขยายโอกาสทางการตลาด แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนากิจการท่าเรือระหว่างกัน โดยไม่มีผูกพันทางกฎหมาย หรือผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ร่วมประชุมรายละเอียดของความร่วมมือท่าเรือพี่น้อง ระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง กับท่าเรือเซินเจิ้น ประเทศจีน เนื่องจากที่ผ่านมา ทางท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์จาก Shenzhen Port of the people’s Republic of China เสนอขอลงนามบันทึกข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่าง ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือเซินเจิ้น เพื่อให้เกิดคามร่วมมือด้านการตลาด ส่งเสริมการค้า และพัฒนากิจการท่าเรือระหว่างกัน
ทั้งนี้ มีรายละเอียดของความร่วมมือประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหารจัดการ การประกอบการ และพัฒนาท่าเรือ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการสร้างโอกาสในการแสวงหาตลาดใหม่ รวมถึงการขยายฐานการตลาดร่วมกัน การดำเนินกิจกรรมเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กรร่วมกัน เช่น การเผยแพร่ผ่านสื่อ การจัดนิทรรศการ การจัดคณะผู้แทนเพื่อเยือนซึ่งกันและกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัย และด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างกัน ซึ่งคณะกรรมการ กทท.ได้มีมติเห็นชอบ
ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ ทางทีมผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ได้เดินทางไปที่ท่าเรือเซินเจิ้น ประเทศจีน เพื่อประชุมหารือรายละเอียดของความร่วมมือท่าเรือพี่น้อง ของทั้งสองท่า โดยมี Shi Wei รองที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับการขนส่ง ของเซินเจิ้น และ แพทริค ลำ กรรมการผู้จัดการ YANTIAN INTERNATIONAL PORT ประเทศจีนให้การต้อนรับ และร่วมหาหรือ
ท่าเรือเซินเจิ้น ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของปากแม่น้ำเพิร์ล ภายในมณฑลกวางตุ้ง โดยมีเส้นทางน้ำเชื่อมต่อไปยังฮ่องกงได้ โดยคาบสมุทรเกาลูนได้แยกพื้นที่เลียบชายฝั่งความยาวทั้งสิ้น 260 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออก และตะวันตกออกจากกัน โดยทางทิศตะวันตก บริเวณปากแม่น้ำเพิร์ล เป็นท่าเรือน้ำลึก และมีขนาดกว้าง เหมาะต่อการเดินเรือเป็นอย่างดี ทิศใต้ ห่างจากฮ่องกงประมาณ 20 ไมล์ทะเล ทิศเหนือ เชื่อมต่อกับกวางเจา โดยมีระยะห่าง 60 ไมล์ทะเล ทั้งนี้ เส้นทางเดินเรือสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ยังสามารถเชื่อมต่อไปยังฮ่องกง สามารถขนส่งสินค้าไปยังพื้นที่เลียบชายฝั่งภายในประเทศ และท่าเรืออื่นๆ ทั่วโลกได้
ท่าเรือเซินเจิ้น มีความยาวขนานชายฝั่งประมาณ 15 กิโลเมตร ท่าเทียบเรือ (Berth) 120 ท่า มีบริษัทที่จดทะเบียนแล้วกว่า 33 บริษัท บริษัทที่ทำการขนส่งสินค้าประเภทคอนเทนเนอร์ผ่านไปยังเส้นทางเดินเรือกว่า 40 ประเทศทั่วโลก โดยมีเส้นทางขนส่งไปยังอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น
ท่าเรือเซิ่นเจิ้น เป็นท่าเรืออันดับ 1 ของประเทศจีน ที่มีปริมาณสินค้านำเข้าจากประเทศไทย และเป็นท่าเรืออันดับที่ 3 ของโลก ด้วยปริมาณตู้สินค้าผ่านท่า จำนวน 23.3 ล้านทีอียู/ปี แผนวิสาหกิจ กทท.ฉบับที่ 11 (ปีงบประมาณ 2558-2562) ได้กำหนดกลยุทธ์หลักที่ 2 การขยายบริการท่าเรือและธุรกิจใหม่ในภูมิภาคอาเซียน และกลยุทธ์หลักที่ 3 การขยายความร่วมมือและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศ และประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งการทำบันทึกข้อตกลงฯ กับท่าเรือเซินเจิ้นนั้น ถือเป็นการดำเนินการที่สอดคล้อง และสนับสนุนการดำเนินการตามกลยุทธ์หลัก
เรือเอกสุทธินันท์ กล่าวอีกว่า ทางท่าเรือแหลมฉบัง พิจารณาแล้วเห็นว่า การจัดทำบันทึกข้อตกลงท่าเรือพี่น้องระหว่าง ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือเซินเจิ้น เป็นประโยชน์ต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทั้งในด้านการบริหารจัดการ ด้านการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจ ด้านการแข่งขันทางการตลาด ด้านการพัฒนากาขนส่งทางน้ำ ทางบก และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในการถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีด้านการบริหารจัดการท่าเรือ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการสร้างโอกาสในการขยายตลาดระหว่างกันตลอดจนทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง
เป็นสื่อกลางระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องสำหรับการสร้างโครงข่ายเชื่อมโยง และประสานงานเพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่นำไปสู่การพัฒนากิจการท่าเรือ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558
โดยข้อตกลงท่าเรือพี่น้องดังกล่าวเพื่อมุ่งเน้นความร่วมมือเพื่อส่งเสริมและพัฒนาด้านการบริหารจัดการท่าเรือ ความร่วมมือในการขยายโอกาสทางการตลาด ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนากิจการท่าเรือระหว่างกันเป็นสำคัญ โดยไม่มีผูกพันทางกฎหมายหรือผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการหารือในครั้งนี้เพื่อกำหนดวัน และสถานที่ในการลงนาม รวมทั้งรายละเอียดของกิจกรรมที่จะดำเนินงานร่วมกัน โดยที่ประชุมเห็นชอบให้ ท่าเรือแหลมฉบังเป็นผู้แทนดำเนินการ