ชัยนาท - ชาวนาในตำบลดงคอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ทดลองปลูกผักคะน้า-กวางตุ้ง แทนปลูกข้าวนาปรังช่วงหน้าแล้ง กลับให้ผลผลิตงามรายได้ดีกว่าปลูกข้าวหลายเท่าตัว เตรียมขยายแปลงปลูกต่อเนื่อง
หลังจากชลประทานได้หยุดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา และขอความร่วมมือให้เกษตรกรหยุดปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากน้ำต้นทุนมีน้อย ทำให้เกษตรกรในจังหวัดชัยนาท หันไปเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปอเทือง และพืชผักอื่นๆ รวมกว่า 12,000 ไร่ เนื่องจากใช้น้ำน้อย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ในระยะสั้น และขายได้ราคาดีกว่าปลูกข้าว
นายประทุม เหมหงษา อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96 หมู่ 6 ต.ดงคอน อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า ตนเป็นชาวนาปลูกข้าวกว่า 100 ไร่ หลังชลประทานหยุดส่งน้ำให้เพาะปลูกก็หยุดทำนาปรัง แม้ในพื้นที่จะมีน้ำจากบ่อบาดาลที่สามารถใช้ปลูกข้าวได้ แต่ก็เลือกที่จะไม่ปลูกเพราะกลัวไม่คุ้มทุน เนื่องจากราคาข้าวตอนนี้เหลือเพียงตันละ 6,500 บาทเท่านั้น โดยได้ปรึกษากับลูกชายค้นหาพืชชนิดใหม่มาปลูกแทนข้าวที่มีราคาดีกว่า ก็พบว่า ผักคะน้า และผักกวางตุ้งมีราคาดี ปลูกง่าย เก็บขายได้ภายใน 35 วัน และมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงที่ ไม่ต้องออกไปหาตลาดขายเอง
จึงได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าว จำนวน 10 ไร่ ให้เป็นแปลงผัก และติดตั้งระบบให้น้ำ ลงทุนไปกว่า 60,000 บาท แบ่งปลูกผักคะน้า 7 ไร่ กวางตุ้ง 3 ไร่ ซึ่งจากการทดลองปลูกครั้งแรกถือว่าประสบความสำเร็จ ผักทั้ง 2 ชนิดเจริญเติบโตดี แม้จะต้องมีการดูแลต้องให้น้ำมากกว่าการปลูกข้าว แต่ผลผลิตที่ได้รับเป็นที่พอใจมาก
โดยราคาที่พ่อค้าเข้ามารับซื้อผักกวางตุ้ง กิโลกรัมละ 13 บาท ผักคะน้า กิโลกรัมละ 9 บาท คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 4,000 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็นเงินกว่า 400,000 บาท โดยเตรียมขยายแปลงเพาะปลูกเพิ่มเติม และหากเข้าสู่ฤดูฝนก็จะยังปลูกผักต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการปลูกข้าว เพราะผักมีราคาดีกว่าข้าวหลายเท่าตัว