xs
xsm
sm
md
lg

“ศูนย์ข้าวบ้านหางแขยง” แก้ปัญหาให้ชาวนาปลูกข้าวได้ผลผลิตน้อยหันใช้ปุ๋ย “สั่งตัด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ชัยนาท - ศูนย์ข้าวบ้านหางแขยง ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท แก้ปัญหาให้ชาวนาในการปลูกข้าวที่มีต้นทุนการผลิตสูง แต่กลับได้ผลผลิตน้อยลง ด้วยการหันมาใช้ปุ๋ย “สั่งตัด” หรือการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินช่วยลดต้นทุนการผลิต

นายชัด ขำเอี่ยม นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า จากปัญหาของชาวนาในการปลูกข้าวที่มีต้นทุนการผลิตสูง แต่กลับได้ผลผลิตน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาดินเสื่อมคุณภาพ ซึ่งศูนย์ข้าวบ้านหางแขยง ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ได้แก้ปัญหานี้ด้วยการนำดินไปวิเคราะห์ ปรับปรุงเติมธาตุอาหารที่ขาดหายไป เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินก่อนลงมือปลูกใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และได้ผลผลิตดีมีประสิทธิภาพ

น.ส.ภิรานันท์ ระดี อายุ 42 ปี ประธานศูนย์ข้าวบ้านหางแขยง ตำบลหางน้ำสาคร อำเภอมโนรมย์ กล่าวว่า การใช้ปุ๋ย “สั่งตัด” หรือการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพื่อให้ทราบถึงความอุดมสมบูรณ์และปัญหาของดินในแปลงปลูก ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่างดินเพื่อนำมาวิเคราะห์ต้องทำอย่างถูกต้องไม่เช่นนั้นอาจได้ผลลัพธ์ที่ผิดพลาด

โดยหลักสำคัญของการเก็บตัวอย่างดิน ได้แก่ ควรเก็บหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือก่อนเตรียมดินปลูกพืชครั้งต่อไป พื้นที่เก็บตัวอย่างดินควรมีความชื้นเล็กน้อยเพื่อให้ขุด และเก็บได้ง่าย ไม่เก็บตัวอย่างดินบริเวณที่เคยเป็นบ้าน โรงเรือนเก่า จอมปลวก เก็บให้ห่างไกลจากบ้านเรือน คอกสัตว์ และจุดที่มีปุ๋ยตกค้างอยู่ อุปกรณ์ที่เก็บตัวอย่างดินต้องสะอาด ไม่เปื้อนปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช หรือสารเคมีอื่น ต้องบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอย่างดินของแต่ละตัวอย่างให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการให้คำแนะนำการจัดการดินให้ถูกต้องที่สุด

โดยวิธีเก็บตัวอย่างดินต้องเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็น ได้แก่ เครื่องมือสำหรับขุดเจาะ เช่น พลั่ว จอบ เสียม ภาชนะใส่ดิน ผ้ายาง หรือผ้าพลาสติก และถุงพลาสติกสำหรับใส่ตัวอย่างดินส่งไปวิเคราะห์ หลังจากนั้น จึงสุ่มเก็บตัวอย่างโดยแบ่งเป็นแปลง และกระจายเก็บให้ครอบคลุมทั่วแต่ละแปลง แปลงละ 15-20 จุด แล้วขุดหลุมแต่ละจุดเป็นรูป V ให้ลึกในแนวดิ่งประมาณ 15 เซนติเมตร ก่อนแซะเอาดินด้านหนึ่ง เป็นแผ่นหนา 2-3 ซม. นำดินทุกจุดใส่รวมกันในถังพลาสติกหรือภาชนะที่เตรียมไว้ ซึ่งได้ตัวอย่างดินของแต่ละแปลง โดยทำเช่นกันนี้ทุกแปลง

จากนั้นให้ตากดินให้แห้ง โดยเทดินในแต่ละถังลงบนแผ่นผ้าพลาสติก หรือผ้ายางแยกกันถังละแผ่น เกลี่ยดินผึ่งในที่ร่มจนแห้ง นำตัวอย่างดินที่เก็บมาแปลงละครึ่งกิโลกรัมใส่ในถุงพลาสติกที่สะอาดพร้อมแบบฟอร์มที่บันทึกรายละเอียดของตัวอย่างดินเรียบร้อยแล้ว ปิดปากถุงให้แน่นใส่ในกล่องกระดาษแข็งอีกชั้น แล้วส่งไปวิเคราะห์

การนำดินไปวิเคราะห์จะทำให้รู้ว่า มีธาตุอาหารชนิดใดบ้างมาก หรือน้อยอย่างไร เพื่อให้การใช้ปุ๋ยเคมีเป็นไปตามค่าวิเคราะห์ของดิน คือ ช่วงที่ 1 ปักดำ 10-15 วัน หรือหว่านน้ำตม 20-25 วัน ใช้แม่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 อัตรา 9 กิโลกรัม/ไร่ ปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ และปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 1 กิโลกรัม/ไร่ ช่วงที่ 2 ระยะกำเนิดช่อดอกหรือ 50-55 วัน

ข้าวอายุสั้น 45-50 วัน ใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 10 กิโลกรัม/ไร่ และช่วงที่ 3 ระยะตั้งท้องถึงเริ่มออกรวง พิจารณาว่าควรจะใส่ปุ๋ยหรือไม่ สังเกตจากใบข้าว ถ้าจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยให้ใส่ปุ๋ยสูตร 46-0-0 อัตรา 5 กิโลกรัม/ไร่ รวมทั้งสิ้นประมาณ 30 กิโลกรัม/ไร่ เป็นปริมาณที่น้อยกว่าการใช้ปุ๋ยตามความพอใจดังที่ผ่านมา ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 700-800 บาทต่อไร่ และเมื่อดินมีธาตุอาหารที่อุดมสมบูรณ์แล้ว จะส่งผลให้ได้ผลผลิตที่ดีทั้งปริมาณ และคุณภาพ



กำลังโหลดความคิดเห็น