ศูนย์ข่าวศรีราชา - สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ประกาศแผนดำเนินงานปี 58 เดินหน้าจับมือร่วมทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อยกระดับการพัฒนาระบบการค้า และการลงทุน สนับสนุนการดำเนินงานระหว่างผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำ-ปลายน้ำ ชี้ปัจจุบันชลบุรี มีการลงทุนชิ้นส่วนยานยนต์มากเป็นอันดับ 1 จากจำนวนโรงงานที่มีกว่า 4 พันแห่ง จึงต้องเร่งผลักดันให้มีการนำนวัตกรรมที่ถูกคิดค้นจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมให้เผยแพร่สู่ผู้ประกอบการ เพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการสร้างมลพิษ และเตรียมความพร้อมในการเป็นอีโคทาวน์อย่างแท้จริง
นางสุวพรรณ จันทสารวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เผยถึงแผนดำเนินงานในปี 2558 ว่า คือการมุ่งเน้นความร่วมมือในหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่เฉพาะเจาะจงเพียงภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เพราะจังหวัดชลบุรี มีศักยภาพที่ดีในหลายด้าน ทั้งอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว เกษตร อาหารการกิน ประมง สถานศึกษา ท่าเรือน้ำลึก และระยะทางที่ไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ซึ่งการทำงานในขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว
โดยเฉพาะการจับมือร่วมกับหอการค้าจังหวัด เพื่อช่วยกันเชิญชวนให้ภาคเอกชนต่างๆ เข้ามาผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านการค้า การลงทุน และการสร้างเมืองอีโคทาวน์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องไม่สร้างมลพิษให้เกิดขึ้น รวมทั้งมีการกำจัดของเสียอย่างเป็นระบบ เพราะที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมมักตกเป็นจำเลยของสังคม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดชลบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมฯ ไม่ต่ำกว่า 4,000 แห่ง และมีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจีน ไต้หวัน และอเมริกา นอกเหนือจากกลุ่มทุนจากประเทศญี่ปุ่น
“นอกจากนโยบายหลักที่กล่าวในเบื้องต้น ปีนี้สภาฯ ยังมีแนวคิดที่จะเดินหน้าส่งเสริมให้นวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกคิดค้นจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมจนได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศให้สามารถเผยแพร่สู่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปสู่การใช้งานได้จริง ก่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้ในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เป็นพี่เลี้ยง รวมทั้งจะผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการอนุรักษ์พลังงาน เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าพลังงานไฟฟ้าของไทยจะไม่มีใช้ ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังใช้พลังงานแบบฟุ่มเฟือย”
นางสุวพรรณ ยังเผยอีกว่า สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ในฐานะศูนย์กลางการอนุรักษ์พลังงานของภาคตะวันออก ยังมีโครงการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีทีมวิศวกร ที่จะออกไปให้ความรู้ในองค์กร และโรงงานที่เป็นสมาชิกเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ เข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน และยังจับมือร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. ในการค้ำประกันเงินกู้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการขยายการลงทุนในด้านต่างๆ ด้วยเช่นกัน
ขณะที่บทบาทของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี คือ การทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการกำหนดแผนงานในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยการประชุมสภาฯ แต่ละเดือนจะเชิญทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังปัญหา รวมทั้งสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้รัฐช่วยเหลือ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐ ก็จะนำข้อมูลใหม่ๆ เช่น การออกกฎหมายใหม่ หรือกฎระเบียบต่างๆ มาบอกเล่าสู่สมาชิก เพื่อให้มีโอกาสได้รับรู้ก่อนในฐานะผู้ที่มีส่วนได้ และส่วนเสียโดยตรง
“สมาชิกของเรามีอยู่ในทุกประเภทอุตสาหกรรม แต่ที่มากสุดคือ ภาคการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพราะจังหวัดชลบุรี มีชื่อเสียงในเรื่องนี้ เราจึงมีแผนที่จะดึงภาคอุตสาหกรรมทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้เข้ามาอยู่รวมกันเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น และก่อให้เกิดการเชื่อมโยงในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างเช่น หากเราเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำ ก็ต้องมาดูว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมที่อยู่ปลายน้ำอย่างไร รวมทั้งการดึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้เข้ามาอยู่กับเรามากขึ้น เช่นเดียวกับการแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มองค์กรเอกชนต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาจังหวัดชลบุรี ให้มีความแข็งแรงในทุกๆ ด้าน” นางสุวพรรณ กล่าว