xs
xsm
sm
md
lg

“บีโอไอ- สภาอุตฯ” ผนึกกำลัง ดัน “ชลบุรี” สู่ “อีโค ทาวน์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผอ.บีโอไอ.แหลมฉบัง
“บีโอไอ- สภาอุตฯ” ผนึกกำลังดัน “ชลบุรี” สู่ “อีโค ทาวน์”

การประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 มุ่งเน้นให้การส่งเสริมการลงทุนตามตัวผลิตภัณฑ์ มากกว่าเกณฑ์ที่ตั้งดังเช่นนโยบายเดิม ย่อมมีผลให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหลายตัวในภาคตะวันออก ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนน้อยลง แต่นโยบายส่งเสริมการลงทุนใหม่ที่มุ่งเน้นให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในกิจการที่มีการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา หรือใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ด้วยหวังผลักดันให้เกิดการจ้างแรงงานทักษะฝีมือในอัตราที่สูงขึ้น จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้จังหวัดชลบุรี ยกระดับสู่การเป็น “อีโค ทาวน์” หรือเมืองที่มีการลงทุนภาคอุตสาหกรรมปลอดจากมลพิษได้เร็วยิ่งขึ้น

นายชนินทร์ ชาวจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 แหลมฉบัง เปิดเผยว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนในปี 2558 ของบีโอไอแหลมฉบัง คือ การสร้างความเชื่อมโยงทางการลงทุน ระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) กับบริษัทใหญ่จากต่างชาติ ให้มีการประสานงานด้านการผลิตที่เกื้อหนุนกันได้

รวมทั้งผลักดันให้ภาคการลงทุนขนาดใหญ่หันไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งภาคตะวันออก มีอยู่ 2 แห่ง คือ จ.สระแก้ว และ จ.ตราด ด้วยหวังลดความแออัดในการขนส่งสินค้า และพัฒนาโอกาสการเชื่อมโยงการค้าจากไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้แรงจูงใจเรื่องมาตรการด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งการยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้น 3 ปี แต่ไม่เกิน 8 ปี แต่หากได้สิทธิพิเศษทางภาษีแล้ว 8 ปีแล้ว ก็จะได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีเงินได้ลงอีก 50% อีกเป็นเวลา 5 ปี

ทั้งนี้ 2 เรื่องใหญ่ที่ภาคตะวันออกจะต้องเร่งพัฒนาเพื่อรองรับการเป็นอีโค ทาวน์ ที่หมายถึงการเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ไม่มีการปล่อยมลพิษสู่ชุมชน โดยเฉพาะในจังหวัดชลบุรี ที่จะดำเนินการเป็นแห่งแรก คือ การพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทางราง และรถไฟฟ้าควบคู่กันไป เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจาก จ.ระยอง และแหลมฉบัง สามารถขนถ่ายสินค้าไปสู่พื้นที่เป้าหมายได้ง่าย

โดยเส้นทางที่เหมาะสมต่อการลงทุนสร้างรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าเพื่อการขนส่ง คือ เส้นทางจากนิคมอุตสาหกรรมปลวกแดง จ.ระยอง ผ่านมาทางยังนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เหมราช ปิ่นทอง และแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

อีกส่วนคือ การพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง ที่สามารถเชื่อมเส้นทางขนส่งจากภาคตะวันออกสู่ภาคใต้ เพื่อลดปัญหาการขนส่งสินค้าทางบกที่ก่อให้เกิดทั้งมลพิษ ปัญหาการจราจร และอันตรายบนท้องถนน

“ในส่วนของบีโอไอเราให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นระบบรางรถไฟ ซึ่งหากมีเอกชนเข้ามาลงทุนตั้งแต่ขั้นตอนการสร้างระบบราง หรือแม้แต่ตัวรถไฟ หรือใช้อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องก็จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่เป็นเวลา 8 ปี ส่วนการใช้พลังงานของโรงงาน ที่จะต้องลงทุนเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรกลที่ทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการนำพลังงานทางเลือก อย่างไบโอแก๊ส ที่เกิดจากขยะอินทรีย์เข้ามาใช้ หรือแม้แต่การนำพลังงานลม และแสงแดด ที่ได้จากการติดตั้งโซลาร์รูฟ บีโอไอก็ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้ เช่นเดียวกับบริษัทที่ให้คำปรึกษาด้านการประหยัดพลังงาน ที่จะได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าในการนำอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยเช่นกัน”
ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี
นโยบายดังกล่าวยังสอดคล้องต่อแผนดำเนินงานปี 2558 ของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ที่มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างชลบุรี ให้เป็นเมืองปลอดมลพิษเช่นกัน

โดย นางสุวพรรณ จันทสารวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานปี 2558 คือ การมุ่งเน้นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งหอการค้าจังหวัด ที่จะเชิญชวนให้ภาคเอกชนในพื้นที่ผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็ง ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการสร้างอีโค ทาวน์ ที่ผู้ประกอบการต้องไม่สร้างมลพิษ มีการกำจัดของเสียอย่างเป็นระบบ เพราะที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมมักตกเป็นจำเลยของสังคมเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ปัจจุบันจังหวัดชลบุรี มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมไม่ต่ำกว่า 4,000 แห่ง และมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จากการเข้ามาของนักลงทุนในประเทศจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจากกลุ่มทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี มีแนวคิดที่จะเดินหน้าส่งเสริมให้นวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกคิดค้นจากหน่วยงานภาครัฐ และผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม จนได้รับรางวัลทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ สามารถเผยแพร่สู่ผู้ประกอบการเพื่อนำไปสู่การใช้งานได้จริง ก่อให้เกิดการแบ่งปันความรู้ในภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นพี่เลี้ยง

และจะผลักดันให้เกิดการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และการอนุรักษ์พลังงาน เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าพลังงานไฟฟ้าของไทยจะมีปัญหา ขณะที่คนไทยส่วนใหญ่ยังใช้พลังงานแบบฟุ่มเฟือย

“สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ในฐานะศูนย์กลางการอนุรักษ์พลังงานของภาคตะวันออก มีโครงการจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ โดยมีทีมวิศวกรที่จะออกไปให้ความรู้ในองค์กร และโรงงานที่เป็นสมาชิกเพื่อลดการใช้พลังงาน รวมทั้งสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ เข้ามามีส่วนร่วมในการปล่อยเงินกู้สำหรับการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน และยังจับมือร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ หรือ SMEs Bank และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการค้ำประกันเงินกู้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกที่ต้องการขยายการลงทุนในด้านต่างๆด้วย"
กำลังโหลดความคิดเห็น