xs
xsm
sm
md
lg

“ทัศนศิลป์” มรภ.โคราชเจ๋ง กวาดรางวัลระดับชาติ-นานาชาติอื้อ ฉลองก้าวสู่ทศวรรษที่ 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.สามารถ จับโจร ผู้ช่วยอธิการบดี มรภ.นครราชสีมาและประธานโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์พร้อมคณาจารย์ และนักศึกษาที่กวาดรางวัลประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎครั้งที่ 4 ล่าสุด
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - คณาจารย์ นักศึกษา “ทัศนศิลป์” มรภ.โคราช โชว์ศักยภาพศิลปินชายขอบผู้ไม่สยบยอมต่อชะตาลิขิต กวาดรางวัลทั้งเวทีระดับชาติและนานาชาติอื้อ ฉลองใหญ่ครบรอบ 10 ปีกับการก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 เผยย่างก้าว 10 ปีข้างหน้าเน้นพัฒนา 4 ด้านหลัก พร้อมเร่งเปิดหลักสูตร ป.โท และดันนำร่อง “มหาวิทยาลัยสุนทรียภาพ” แห่งแรกของประเทศ บนพื้นที่ตั้งกว่า 170 ไร่

ในโอกาสการก่อตั้ง “โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์” มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมาครบรอบ 10 ปี ในปี 2558 ผศ.ดร.สามารถ จับโจร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และประธานโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์พร้อมคณาจารย์และนักศึกษากว่า 100 คน ได้ร่วมกันแถลงข่าวและจัดงาน “ก้าวย่างทางทัศนศิลป์ ศิลปิน ศิลปะ สู่ทศวรรษหน้า” ที่หอศิลป์จินตนาการ อาคาร 26 โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างยิ่งใหญ่

ศิลปินชายขอบผู้ไม่สยบยอมต่อชะตาลิขิต

ผศ.ดร.สามารถเปิดเผยว่า โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์เป็นหน่วยงานเล็กๆ ในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เดิมทีเป็นภาควิชาศิลปะ ประกอบด้วย แขนงวิชาทัศนศิลป์ ศิลปศึกษา และการออกแบบนิเทศศิลป์ ต่อมาปี 2548 จึงได้แยกออกมาเป็น “โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์” มุ่งเน้นการเรียนการสอนเฉพาะด้านโดยตรง รวมทั้งเน้นการปฏิบัติด้านทักษะเป็นหลัก และมีการพัฒนาหลักสูตรมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับธรรมชาติวิชา และความต้องการของตลาด ให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากโปรแกรมวิชานี้สามารถนำวิชาความรู้ไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัว และเป็นศิลปิน รวมทั้ง ครู อาจารย์ได้ ปัจจุบันมีนักศึกษาชั้นปีที่ 1-4 รวมทั้งครู อาจารย์ ประมาณ 100 คน

“การนำศิลปะเข้าหาประชาชน คือการเปิดประตูสู่สุนทรียภาพให้ผู้คนได้สัมผัสรับรู้” เป็นพันธกิจที่ครู อาจารย์ โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ต้องทุ่มเททั้งกำลังกาย ความรู้ และความสามารถ เพราะด้วยความเชื่อที่ว่าศิลปวัฒนธรรมจะนำสังคมและประเทศชาติให้หลุดพ้นจากผลพวงแห่งความโฉด เขลา สิ่งมัวเมายั่วยุอันเกิดจากทุนสามานย์ ด้านสังคมและการให้ความสำคัญของกากมากกว่าแก่น

ผศ.ดร.สามารถกล่าวอีกว่า 10 ปีที่ผ่านมานักศึกษาโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ได้แสดงความสามารถอันเป็นปัจเจกตลักษณ์ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ สร้างชื่อเสียงให้แก่สถาบันในหลากหลายด้าน ฝ่าด่านหินเข้าไปคว้าชัยชนะกลับมาให้ทุกคนได้ชื่นชมมากมาย

เช่น ปี 2553 “นายศุภรัตน์ เลยไธสง” ได้รับรางวัลดีเด่นยุวศิลปินไทย หรือ “Young Thai Artist Award 2010” จัดโดยมูลนิธิเอสซีจี และ “นายมนตรี จำนงดี” ได้รับรางวัลสนับสนุนศิลปกรรมร่วมสมัยของศิลปินรุ่นเยาว์ ครั้งที่ 27

ปี 2554 “นายกรุณา นพคุณ” คว้ารางวัลความคิดสร้างสรรค์ดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 4 จัดโดย มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ปี 2556 “นายกรุณา นพคุณ” สร้างผลงานอีกครั้งด้วยการคว้ารางวัลดีเด่น การประกวดผลงานจิตรกรรมร่วมสมัย พานาโซนิค ครั้งที่ 15 “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ที่ บริษัท พานาโซนิค ซิว เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศิลปากร และหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร จัดขึ้น

ในปีเดียวกัน “นายพรประเสริฐ แก้วน้อย” เป็นผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้าย รายการ “ต้นศิลปะ ปี 3” ทางช่อง TPBS, “นางสาววนิดา อุปถัมภ์” ได้รับทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์, นายยืนยง ทานอก ได้รับรางวัลพิเศษ การประกวดศิลปกรรม หัวข้อ “ทุจริตคอร์รัปชัน ทำลายประเทศ”
เปิดแถลง“ก้าวย่างทางทัศนศิลป์ ศิลปิน ศิลปะ สู่ทศวรรษหน้า ”
และปิดท้ายปี 2556 ด้วย “นายธีรพล ไสยสมบัติ” คว้ารางวัลดีเด่น การประกวดศิลปกรรมร่วมสมัยลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 2 จัดโดยภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมกับสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน

ส่วนปี 2557 “นายธีรพล ไสยสมบัติ” เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย (ทัศนศิลป์) รุ่นที่ 8 และได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนเยาวชนเพื่อเดินทางไปต่อยอดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและแสดงนิทรรศการ ณ นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา, “นางสาวพิกุลแก้ว ทุลดดี” ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงนิทรรศศิลปะ จากศิลปนิพนธ์ ครั้งที่ 16

ในปี 2557 เช่นกัน “นายอาทิตย์ ดีสูงเนิน” ได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับ 3 พระพุทธรูปประเภทไทยประเพณี ประเภทนิสิตนักศึกษา จากการประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 3, “นายสมชาย ใจเย็น” ได้รับรางวัลชมเชย พระพุทธรูปประเภทไทยประเพณี ประเภทนิสิตนักศึกษา จากการประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 3, “นายยืนยง ทานอก” พร้อมด้วย “นายรัตนพงศ์ พิมพิสาร” และ “นายถาวร สระเศษ” ได้รับทุนส่งเสริมการศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

ล่าสุดปี 2558 “นายไทยคม มีบุญ” คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 2 พระพิฆเนศวร ประเภทนิสิต นักศึกษา จากการประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 4, นายวุฒินันท์ ดิษฐ์ภักดี และ “นายวิทวัส กองโคกกรวด” ได้รับรางวัลชมเชย พระพุทธรูปประเภทไทยประเพณี ประเภทนิสิต นักศึกษา จากการประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 4 และ “นายสมชาย ใจเย็น” รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 พระพุทธรูปประเภทไทยประเพณี ประเภทนิสิต นักศึกษา จากการประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 4

ขณะที่ทางด้านคณาจารย์ของโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์เองได้สร้างผลงานสามารถชนะการประกวดได้ในหลายเวทีทั้งระดับชาติและนานาชาติ เช่น ล่าสุด “ อ.ธนะชัย พรหมรัตน์” ได้รับรางวัลชนะเลิศลำดับที่ 2 จากการประกวดวาดเส้นนานาชาติ ประจำปี พ.ศ. 2558, “อ.พฤกษ์ โตหมื่นไวย” ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 พระพิฆเนศวร ประเภทประชาชนทั่วไป พร้อมได้รางวัลชนะเลิศลําดับที่ 3 พระพุทธรูปแบบไทยพระเพณี ประเภทประชาชนทั่วไป จากการประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2558 เป็นต้น

นอกจากนี้ทางคณาจารย์โปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ยังมีผลงานบริการวิชาการแก่ชุมชนองค์กรต่างๆ ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การปั้นรูปเหมือน “หลวงปู่เสาร์” ถวายวัดกุดเวียน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา, รูปเหมือน “สมเด็จโต พรหมรังสี พระพุทธพิมพ์” ติดตั้ง ณ ศาล จ.สุพรรณบุรี, “พระพุทธรูปรัตนมงคลสัมฤทธิ์” ประดิษฐาน ณ วัดกฤษณเวฬุพุทธาราม ต.ทองเอน อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 และผลงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ที่สำคัญถือเป็นความภาคภูมิใจครั้งยิ่งใหญ่หาที่สุดมิได้ คือ การปั้นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ทรงงาน” ขนาดความสูง 2 เมตร 30 เซนติเมตร ประดิษฐาน ณ สวนสุขภาพลัดโพธิ์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ทรงประกอบพิธีเททองหล่อ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม 2556 ณ หน้าพระอุโบสถรังสี ภายในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

ย่างก้าว 10 ปีข้างหน้า เน้นพัฒนา 4 ด้านหลัก

ผศ.ดร.สามารถกล่าวต่อว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้าจากนี้ไปโปรแกรมวิชาทัศนศิลป์ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา 4 ด้านหลัก คือ “กิจกรรมเด่น เน้นทักษะฝีมือ ถือคุณธรรม และนำสังคม” โดย 1. “กิจกรรมเด่น” เน้นการมีส่วนร่วมของอาจารย์ นักศึกษา เช่น การมีจิตสาธารณะ การแสดงความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ การเสียสละ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน กล้าต่อสู้เคียงคู่กับพี่น้องประชาชนเพื่อความยุติธรรม และกล้าเผชิญกับความไม่ถูกต้องในทุกด้าน รวมทั้งการออกค่ายบริการวิชาการแก่ชุมชน โรงเรียนทุรกันดาร วัด สถานปฏิบัติธรรมต่างๆ

2. “เน้นทักษะฝีมือ” นักศึกษาทุกคนนอกจากใช้ความคิดและจินตนาการในการสร้างสรรค์ผลงานได้ในลักษณะกึ่งนามธรรมและนามธรรมแล้ว ยังต้องมีทักษะฝีมือด้านช่าง ซึ่งเป็นองค์ความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพและหาเลี้ยงตัวเองได้

3. “คุณธรรม” เป็นธงธรรมที่นำมาใช้กับนิสิต นักศึกษา ครู อาจารย์ให้ก้าวสู่ความสำเร็จ เป็นที่พึ่งพิงแก่สังคม คุณธรรมจึงเป็นหัวใจสำคัญที่โปรแกรมวิชาทัศศิลป์ให้ความสำคัญในลำดับต้น และยึดถือเสมอมา

และ 4. “นำสังคม” การนำสังคมด้วยหลักคุณธรรมคือพลังแห่งศีลธรรม ความบริสุทธิ์ของนิสิต นักศึกษา สามารถสะท้อนการบริหารกิจการบ้านเมืองได้หลากหลายมิติ รวมทั้งการรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง การต่อสู้และการแสดงออกอย่างสันติวิธีตามวิถีประชาธิปไตย คือความหาญกล้าทางจริยธรรมที่ต้องส่งเสริมปลูกฝังเพื่อเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมไทย

เร่งเปิดหลักสูตร ป.โท-ดันนำร่อง “มหาวิทยาลัยสุนทรียภาพ”

ผศ.ดร.สามารถกล่าวอีกว่า ในระยะอีก 10 ปีข้างหน้าในด้านวิชาการจะเร่งดำเนินการเปิดหลักสูตรปริญญาโท เพื่อขยายโอกาสให้แก่นักศึกษา ผู้สนใจได้เข้าศึกษาหาความรู้ต่อยอดเพิ่มเติม โดยเนื้อหาหลักสูตรจะเน้นภาคปฏิบัติให้นักศึกษามีทักษะและกระบวนการคิดในมิติเชิงสร้างสรรค์ เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถนำวิชาความรู้ไปเป็นนักวิชาการ ครู อาจารย์ด้านศิลปะ หรือศิลปินเพื่อสร้างสรรค์งานส่วนตัวได้

ส่วนเวทีการแข่งขัน จะส่งเสริมสนับสนุนการเข้าร่วมในเวทีการประกวด ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติให้มากยิ่งขึ้นตามพันธกิจของมหาวิทยาลัย เรื่องศักยภาพการแข่งขันอันส่งผลดีต่อการประกันคุณภาพของสถาบันการศึกษา

สิ่งสำคัญสุดท้าย คือ การจัดทำ “โครงการมหาวิทยาลัยสีเขียว” หรือ “สุนทรียภาพในสถาบันอุดมศึกษา” ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางความงามที่ถือกำเนิดขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ที่จะนำร่องใช้ผลงานศิลปะ เช่น งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ หรืองานสื่อผสมอื่นๆ เข้ามาเติมเต็มสุนทรียภาพภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ตั้งอยู่บนเนื้อที่กว่า 170 ไร่ ให้เกิดสุนทรียภาพตามหลักสากลและนานาชาติ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร สวนหย่อม สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และในพื้นที่สันทนาการด้านอื่นๆ เป็นต้น โดยล่าสุดโครงการนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยแล้ว และรอการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการตามโครงการต่อไป
คณาจารย์และบุคลากร ทัศนศิลป์ มรภ.นครราชสีมา
“ก้าวย่างทัศนศิลป์ 10 ปีที่ผ่านมา และก้าวต่อไปอีก 10 ปีข้างหน้า ถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งในการทำภารกิจสำคัญ เพื่อพิสูจน์ตัวตนกับทิศทางการพัฒนาองค์กร ภายใต้บริบทความเป็นมหาวิทยาลัยรับใช้ชุมชนอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ต้องดำเนินการทั้งด้านวิชาการและงานวิชาชีพให้สัมฤทธิผล กับนักวิชาการทัศนศิลป์ผู้ค้าความงามด้วยหยาดเหงื่อ สติปัญญา จินตนาการ และความสามารถ ที่หวังผลประกอบการด้านกำไรเพียงเพื่อต้องการคืนให้แก่สังคม และประเทศชาติ” ผศ.ดร.สามารถกล่าวในตอนท้าย
ผศ.ดร.สามารถ จับโจร กับอาจารย์และศิษย์เอกทีมคว้ารางวัล
ผศ.ดร.สามารถ จับโจร
โรงปั้น


เข้าร่วมประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎครั้งที่ 4
5 คน ผู้คว้ารางวัล
(ซ้าย) อ.พฤกษ์ โตหมื่นไวย คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 พระพิฆเนศวร ประเภทประชาชนทั่วไป จากการประกวดประติมากรรมเพชรยอดมงกุฎ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น