20 วัน ที่น้องๆ ตัวแทนนักเรียนทุนจากโครงการ “เด็กช่าง สร้างชาติ” ปี 1 โดยมูลนิธิเอสซีจี กว่า 50 ชีวิต ได้เข้ามาเรียนรู้ตัวตน จัดกระบวนการความคิด และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในค่าย “การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ตามทฤษฏีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism)” ที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กช่างเลือดใหม่ให้เป็นทั้งคนเก่งและดี ตามแนวคิดหลักของมูลนิธิเอสซีจี ในการเตรียมความพร้อมความเป็นคนเก่งและดีรอบด้าน พร้อมที่จะเป็นเด็กช่าง สร้างชาติ ที่มีคุณภาพ เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเต็มภาคภูมิ
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี เปิดใจถึงที่มาของโครงการ “เด็กช่าง สร้างชาติ” ให้เราได้ฟังกันว่า โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการ “SCG Sharing the Dream โดยมูลนิธิเอสซีจี” ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนเยาวชนที่สนใจเรียนต่อในสายอาชีวะ สาขาช่างอุตสาหกรรม เนื่องจากในปัจจุบัน ประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรที่จบอาชีวะสายช่างมาก ในขณะที่เด็กไทยกลับมีค่านิยมที่จะเรียนสายสามัญมากกว่า จึงนำไปสู่โครงการ “เด็กช่าง สร้างชาติ” ที่จะเป็นโครงการน้ำดี สำหรับพัฒนาเยาวชนไทยในสายช่างอุตสาหกรรมให้ดีทัดเทียมกับต่างชาติ เพื่อเป็นการรองรับความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมสูง เมื่อประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน (AEC) อย่างเต็มตัว
การเข้าค่ายของน้องๆ เราได้มอบประสบการณ์และเพิ่มทักษะเพื่อให้น้องๆ ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เพราะโลกในศตวรรษที่ 21 ได้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคนในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แม้จะมีเครื่องจักรมาช่วยในการผ่อนแรง แต่ช่างที่เก่งจะต้องสามารถควบคุมเทคโนโลยีนั้น ๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเช่นกัน ดังนั้น เราจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสภาวะแวดล้อม นำความรู้มาสร้างให้เกิดประโยชน์ให้กับองค์กร รู้จักแก้ไขและวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง พร้อมกับปรับให้การทำงานนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ คนที่มีความรู้และทักษะในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น สามารถตั้งรับปรับเปลี่ยน รู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ทันท่วงทีเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการทำงาน ที่สำคัญ ในค่ายนี้ น้องๆ จะได้ฝึกฝนการทำงานเป็นทีม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่น้องๆ ทุกคนอย่างยิ่งในการจะเป็นช่างมืออาชีพในวันหน้า
นายภานุวัฒน์ สุทธิรักษ์ หรือ น้องตั้ง อายุ 16 ปี สาขาช่างยนต์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอีสานเหนือ จังหวัดอุดรธานี เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ของการได้มาเป็นส่วนหนึ่งของค่ายไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงวันแรกๆ ของการเริ่มค่ายนั้น ทุกคนแทบจะร้องไห้ และอยากจะหนีกลับบ้านกันหมด เนื่องจากการมาค่ายในครั้งนี้แทบจะไม่มีเพื่อนจากโรงเรียนเดียวกันมาด้วยกันเลย ทำให้สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจะต้องมาเริ่มต้นปรับตัวใหม่เหมือนกันหมดเลยก็คือ การที่จะต้องมาเรียนรู้การเข้าสังคมใหม่ๆ
“ผมรู้สึกว่าการได้มาเข้าร่วมค่ายในครั้งนี้ ถือเป็นประสบการณ์ดีๆ ที่หาจากในห้องเรียนไม่ได้ครับ เพราะว่าเราทุกคนจะต้องห่างจากบ้าน ห่างจากเพื่อน ห่างจากสังคมที่คุ้นเคย มาร่วมใช้ชีวิตกับสังคมใหม่ เพื่อนใหม่ภายในค่ายแห่งนี้ตลอด 20 วันครับ ซึ่งมันทำให้ผมได้ประสบการณ์มากมาย ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ได้รู้จักการแบ่งปันไปยังคนรอบข้าง แล้วกว้างไปถึงชุมชนรอบข้างด้วยครับ ซี่งตลอดเวลาในค่ายแห่งนี้ ทำให้พวกเราได้รับประสบการณ์มากมาย และผมเชื่อว่ามันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการนำสิ่งที่ได้จากค่ายไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ชีวิตการเรียน และมันจะติดตัวเราไปจนถึงชีวิตในการทำงานจริงๆ เลยครับ” น้องตั้ง กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ขณะที่ นายชุษณ นิยม หรือ น้องภีม อายุ 16 ปี สาขาช่างก่อสร้าง จากวิทยาลัยเทคนิคลพบุรี จังหวัดลพบุรี ก็มาร่วมเล่าให้เราฟังเพิ่มเติมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ตนเองนั้นมีส่วนร่วมด้วยว่า
“ต้องยอมรับว่าวันแรกที่มาผมรู้สึกอยากกลับบ้านมากครับ เพราะไม่รู้ว่าต้องเจออะไรบ้าง พอเวลาผ่านไปผมรู้จักว่า ผมคุ้มมากครับที่ได้มาใช้ชีวิตในค่ายนี้ เพราะว่าในทุกกิจกรรมภายในค่ายแห่งนี้ ล้วนแล้วแต่ฝึกให้เรานำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเรียนรู้มา ทั้งจากในห้องเรียนและโลกภายนอก มาฝึกประยุกต์ใช้จริงๆ ครับ อย่างเช่น “โครงงานจิตอาสา” ที่พวกเราทุกคนได้ออกไปใช้ความรู้ความสามารถทุกอย่างที่เรามี ในการร่วมกันพัฒนาวัดให้สมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งตรงนี้ผมมองว่า มันทำให้เราได้ใช้ความรู้ที่เราเรียนมาตลอด 1 ปี สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้กับสังคมได้จริง เพราะพวกเราได้ลงมือทำจริงๆ ได้มีการแบ่งงานกันทำ ใครเรียนมาด้านไหน ถนัดงานอะไร ก็อาสาช่วยกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเลยครับ และยังสามารถเรียนรู้การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบได้ ซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญมากเลยครับ”
น้องภีม บอกว่า กิจกรรมหนึ่งที่ชอบที่สุด นั่นก็คือ “เลโก้จำลองโรงงานเอสซีจีเปเปอร์” ที่ทุกคนในค่ายร่วมแรงร่วมใจต่อ ประกอบ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ โดยตกลงกันว่าจะต่อเป็นโรงงานเอสซีจีเปเปอร์ เพราะพวกเราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานเอสซีจีเปเปอร์ได้เห็นกระบวนการทำงานต่าง ๆ ด้วยตัวเอง เราจึงเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาต่อเป็นเลโก้ ซึ่งตอนแรกพวกเราก็กลัวว่าจะไม่สำเร็จ เพราะมีเวลาที่จำกัด แต่พอได้เริ่มทำจริงๆ แล้ว กลับไม่ยากอย่างที่คิด พวกเราก็แบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ท้ายที่สุดพวกเราก็ต่อ เลโก้เสร็จสมบูรณ์