xs
xsm
sm
md
lg

ภาคเอกชนจี้ปรับทัศนคติ “อาชีวะ” ใหม่ หลังวิกฤตขาดช่างปีละ 2 แสนคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มูลนิธิเอสซีจีจับมือหอการค้าไทย ส.อ.ท.และ สอศ.ยกระดับนักเรียนอาชีวะเป็น “ฝีมือชน” จี้ถึงเวลาปรับเปลี่ยนทัศนคติด้านการศึกษาใหม่ให้มุ่งเน้นเรียนอาชีวะแทนปริญญาตรีเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับเปิด AEC ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ชี้จบด้านอาชีวะมีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจมากกว่าคนที่จบปริญญาตรี

วันนี้ (28 ส.ค.) มูลนิธิเอสซีจี ร่วมกับหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เปิดตัวโครงการ “ฝีมือชน คนสร้างชาติ” พร้อมเสวนาเส้นทางความสำเร็จของบุคลากรสายอาชีวะ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยยกย่องนักเรียนอาชีวะเป็น “ฝีมือชน” สร้างความรู้สึกภาคภูมิใจ มีศักดิ์มีศรีเทียบเท่าปัญญาชน

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)(SCC) ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีปัญหาการพัฒนาประเทศเนื่องจากขาดแคลนช่างฝีมือ สืบเนื่องจากทัศนคติของผู้ปกครองที่คาดหวังให้บุตรหลานจบวุฒิปริญญาตรีทั้งๆ ที่ตลาดต้องการคนเรียนจบสายอาชีวะ

นอกจากนี้ การเรียนสายอาชีวะยังมีข้อดีที่เห็นชัดเจนมากมายไม่ว่าจะเรียนที่จบแล้วมีงานทำ ไม่มีการตกงานเหมือนวุฒิปริญญาตรีที่พบว่าแต่ละปีมีบัณฑิตตกงานปีละกว่า 1 แสนคน และระหว่างการทำงานไปก็สามารถเรียนต่อวุฒิปริญญาตรีควบคู่กันไปด้วย ซึ่งพบว่าคนที่จบสายอาชีวะมีโอกาสที่พลิกผันตัวเองเป็นเจ้าของธุรกิจ

ขณะที่รายได้จากผู้ที่จบอาชีวะนั้นก็ไม่ได้ต่ำเมื่อเทียบกับวุฒิปริญญาตรีเหมือนในอดีต เนื่องจากความต้องการของตลาดและยังมีรายได้เสริมจากการทำงานล่วงเวลา (โอที) ทำให้รายได้สูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันไทยขาดแคลนช่างอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่ว่าช่างกล ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเชื่อม จึงอยากแนะนำให้ผู้ที่สนใจสายงานอาชีพหันมาเรียนด้านนี้ ซึ่งปัจจุบันก็มีทุนสนับสนุนการเรียนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมูลนิธิเอสซีจีก็มีทุนให้นักเรียนที่ต้องการเรียนต่อ ปวช.สาขาช่างอุตสาหกรรมและสื่อสารด้วย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า เมื่อไทยต้องการเป็นฮับด้านอุตสาหกรรม ทำให้มีความต้องการบุคลากรสายช่างเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังเปิด AEC ขณะที่ไทยยังขาดแคลนบุคลากรสายช่างต่างๆ ปีละ 1.9-2 แสนคน โดยสาขาที่ต้องการมากที่สุดคือสาขาช่างกลโรงงาน ช่างเชื่อม ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แมคคาทรอนิกส์และแม่พิมพ์ เป็นต้น

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้ามีแผนจัดทำโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 อาชีวะ โดยแบ่งเขตกลุ่มจังหวัดเป็น 18 กลุ่มทั่วประเทศไทย โดย 1 กลุ่มจังหวัดประกอบด้วย 4-5 จังหวัดตามภูมิภาค โดยทำข้อตกลงร่วมกันกับอาชีวะทวิภาคี เพื่อออกแบบหลักสูตร วัดผลและประเมินผลร่วมกัน โดยให้นักเรียนนักศึกษาใช้เวลาส่วนหนึ่งในการปฏิบัติงานในสถานประกอบการจริง เมื่อเรียนจบจะมีใบรับรองผ่านงานของสถานประกอบการนั้นๆ และยังมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น