เชียงใหม่ - สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ รวมตัวจุดเทียนส่งรัฐธรรมนูญหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จี้ สปช.เปิดทางภาค ปชช.มีส่วนร่วมมากขึ้น ชี้ร่าง รธน.ใต้กฎอัยการศึก มุ่งเป้าคุมอำนาจนักการเมือง-กระชับอำนาจระบบราชการ ขณะที่ทหารคุมตัวแกนนำทำความเข้าใจ ก่อนปล่อยตัวทันที
วันนี้ (21 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ 30 คน ได้รวมตัวกันจุดเทียนส่งรัฐธรรมนูญ กันที่หน้าลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ กลางเมืองเชียงใหม่ ช่วงบ่ายที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องรัฐบาลเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ มีเจ้าหน้าที่ทหาร ฝ่ายความมั่นคงมาควบคุม และสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด
เนื่องจากเห็นว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญภายใต้กฎอัยการศึกอยู่ขณะนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมจำกัดอำนาจของนักการเมือง และมุ่งเน้นกระชับอำนาจให้แก่ระบบราชการ ไม่สอดคล้องต่อข้อเสนอของภาคประชาชน
ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญหลายหมวดที่เสร็จไปแล้ว เช่น แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ศาลและกระบวนการยุติธรรม และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง แตกต่างจากการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550
จากนั้น นายวิรัตน์ พรหมสอน ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปภาคเหนือ ได้อ่านแถลงการณ์ถึง 5 ข้อ พร้อมเสนอข้อเรียกร้องว่า 1.ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำนี้ไม่มีบทบัญญัติที่รับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50
2.ประเด็นการจัดการทรัพยากรที่ดิน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่มีหลักการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรม ในนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญต่อการเข้าถึงทรัพยากรของประชาชน
3.ประเด็นสภาพลเมือง ภาคประชาชนได้เสนอให้ส่วนหนึ่งในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น เพื่อทำหน้าที่ถ่วงดุลตรวจสอบการใช้อำนาจการบริหารท้องถิ่น และประเทศ แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับกำหนดให้ “สมัชชาพลเมือง” เป็นเพียงกิจกรรมของพลเมือง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการกระจายอำนาจ
4.ประเด็นการกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น ที่กำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ซึ่งขัดต่อหลักการประชาธิปตย และยืนยันว่า จะต้องมีการกระจายอำนาจให้จังหวัดที่มีความพร้อมในการจัดการตนเอง ตามเจตนารมณ์ของภาคประชาชน
และ 5.ในการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น สภาประชาชนฯ เห็นว่า จะกระทบต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับการรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่ทั้ง 2 หน่วยงานทำหน้าที่แตกต่างกัน
ซึ่งถ้าจะให้ กสม.ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องให้มีกรรมการสรรหาที่เชื่อมโยงกับภาคประชาชน มีสำนักงานที่เป็นอิสระ และมีอำนาจหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และฟ้องคดีศาลยุติธรรมแทนประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้โดยตรง
ทั้งนี้ สภาประชาชนฯขอยืนยันว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญจะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการปฏิรูปอย่างแท้จริง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน โดยจะคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ภาคประชาชนอย่างถึงที่สุด
ต่อมา นายเดโช ชัยทับ อนุกรรมการส่งเสริมสิทธิชุมชน ได้เป็นตัวแทนของสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือ สปช. มารับข้อเรียกร้อง และจะนำเสนอส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ล่าสุดมีรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นพิธีจุดเทียน เจ้าหน้าที่ทหาร ได้เชิญตัวนายพฤ โอ่โดเชา แกนนำชาวปกากะญอ ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวภายใต้กฎอัยการศึก ก่อนที่จะปล่อยตัวในเวลาต่อมา