xs
xsm
sm
md
lg

37 องค์กร สธ.เตรียมพบ นายกฯวอนสั่ง สธ.แก้ไขตัวเลขคนไร้สถานะตามจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.รัชตะ รัชตนาวิน
37 องค์กรสาธารณสุข ออกแถลงการณ์จี้ “หมอรัชตะ - หมอสมศักดิ์” แก้ไขตัวเลขกลุ่มไร้สถานะที่ต้องเสนอเข้าในกองทุนให้สิทธิสาธารณสุข ลั่นต้องยืนตามจำนวน 2.08 แสนคนที่กรมการปกครอง มท. เคยเสนอ ไม่ใช่ตัวเลขที่ 1.7 แสนคนที่ สธ. ชงเสนอ ระบุข้อมูลของ สธ.ทำให้คนไร้สถานะตกหล่นไม่ได้รับสิทธิถึง 3.8 หมื่นคน พร้อมเตรียมบุกยื่นหนังสือถึง นายกฯ พรุ่งนี้ หวังเข้ามากำกับให้ สธ. เร่งแก้ไข

วันนี้ (15 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 37 องค์กรด้านสาธารณสุข ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง สธ.แก้ไขข้อเสนอจัดการสิทธิสุขภาพคนไร้สถานะและสิทธิให้ถูกต้อง เร่งรัดนำเข้า ครม. ขอมีส่วนร่วมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยระบุว่า นโยบายการจัดบริการสุขภาพให้กลุ่มคนไร้สถานะเป็นหนึ่งในนโยบายที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข ประกาศเมื่อครั้งรับตำแหน่ง 13 กันยายน2557 แต่เมื่อมีการนำเสนอตัวเลขกลุ่มคนไร้สถานะเพิ่มเข้าไปในกองทุนให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 23 มีนาคม 2553 กลับมีการเสนอตัวเลขที่ไม่ถูกต้องให้ ครม. พิจารณา คือเสนอข้อมูลเก่า 170,535 คน ขณะที่ข้อมูลจริงที่37องค์กรฯ เคยทำข้อเสนอให้ สธ. ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (มท.) อยู่ที่ 208,631 คน ดังนั้น จะเห็นว่าตัวเลขที่ สธ. เสนอทำให้คนไร้สถานะตกหล่นถึง 38,096 คน
             
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้แก้ไขจำนวนกลุ่มคนไร้สถานะให้ถูกต้อง โดยให้ยึดข้อมูลจากกรมการปกครอง มท. ที่จำนวน 208,631 คน และหลังจากแก้ไขตัวเลขแล้ว ให้รีบนำเสนอเรื่องนี้ให้ ครม. พิจารณาโดยทันที ไม่ต้องรอเสนอรวมกับแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในภาพรวม เพราะกลุ่มคนไร้สถานะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ตกหล่น ยิ่งรอนานยิ่งมีผลกระทบกับประชาชน ละเมิดสิทธิมนุษยชนประชาชนมากขึ้นไปอีก และสร้างภาระให้กับโรงพยาบาลมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมา 37 องค์กร เคยเข้าพบเพื่อพูดคุยและหารือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องมา 5 ครั้งแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่เมื่อครั้งรับตำแหน่ง 13 กันยายน2557 แต่เวลาล่วงเลยจนบัดนี้เวลาเกือบ 6 เดือนแล้ว ยังไร้ความคืบหน้า มีหนำซ้ำยังเสนอข้อมูลประชากรที่เป็นตัวเลขผิดให้ครม. พิจารณาอีกด้วย

ส่วนประเด็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ สธ. ดำเนินการนั้น 37 องค์กรฯ เห็นด้วยในการจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิในบริการสาธารณสุขของบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในภาพรวม แต่การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ที่ผ่านมาของ สธ. นั้น ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน และนี่เป็นสาเหตุที่ทำให้สธ.เสนอตัวเลขกลุ่มคนไร้สถานะซึ่งเป็นตัวเลขเก่า และเป็นข้อมูลที่ผิดพลาดให้ ครม. พิจารณา ดังนั้น ขอให้กระบวนการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฯ ของสธ.เปิดกว้างให้ผู้มีส่วนร่วมได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์อย่างรอบคอบ ตอบสนองสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงด้วย

ด้านนายวิวัฒน์ ตามี่ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย(คชท.) ในฐานะตัวแทน 37 องค์กรด้านสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดน กล่าวว่า วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ 37 องค์กรฯ จะไปยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ดำเนินการกำกับและควบคุมให้ ศ.นพ.รัชตะ และ นพ.สมศักดิ์ แก้ไขข้อมูลจำนวนกลุ่มคนไร้สถานะที่สธ.เสนอตัวเลขที่ผิด และทำให้คนไร้สถานะตกหล่นถึง 3.8 หมื่นคน เนื่องจากเคยนำเสนอเรื่องนี้กับ นพ.สมศักดิ์ไปแล้ว แต่ก็ไม่มีการแก้ไขใดๆ จึงต้องยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี

“ก่อหน้านี้ ทางเครือข่ายฯ มีความหวังว่าการแก้ไขปัญหาสิทธิสุขภาพคนไร้สถานะและสิทธิจะมีความก้าวหน้า เพราะมีการประกาศเป็นหนึ่งในนโยบาย 10 ข้อ แต่จนถึงขณะนี้รู้สึกผิดหวังอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับฟังข้อมูลตัวคนไร้สถานะที่จะเพิ่มเข้าไป รวมถึงการไม่มีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์” นายวิวัฒน์ กล่าว

อนึ่ง 37 องค์กรด้านสาธารณสุขและเครือข่ายแพทย์ตามแนวชายแดน ประกอบด้วยองค์กรต่างๆ ดังนี้ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) ,มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) Hill Area Development Foundation (HADF), กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา (The Mirror Art Group), เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง(คสช.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.), มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเหนือ(กป.อพช.ภาคเหนือ) ,โครงการเคียงริมโขง Khiang Rim Kong Project ,โครงการพัฒนาการเกษตรและการศึกษาอาข่า Development Agriculture and Education Project for the Akha (DAPA), มูลนิธิพัฒนาสตรีภาคเหนือ Northern Women’s Development Foundation, มูลนิธิศึกษาพัฒนาประชาชนบนที่สูง Highland People’s Education and Development Foundation, วาย.เอ็ม.ซี.เอ. เชียงราย Chiang Rai Y.M.C.A ,ศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน Development and Education Programme for Daughters and Communities Center, เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.), ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานเวียงป่าเป้า Center : CBIRD WPP,โครงการพัฒนาสิทธิสถานะบุคคลเพื่อสุขภาวะชุมชนลุ่มน้ำโขง - สาละวิน, สมาคมเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมชาวอาข่า เชียงราย (AFECT),ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (NGO-CORD North),ศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.), มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม),องค์การพัฒนาอาชีพนานาเผ่าลุ่มน้ำฝาง,เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม (KNCE),เพื่อนไร้พรมแดน,มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ สำนักงานภาคเหนือ, มูลนิธิศึกษาวัฒนธรรมและการพัฒนาชาวเขาภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้,สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT),สมาคมปกะเกอญอ เพื่อการพัฒนาที่ยันยืน,เครือข่ายพิทักษ์สิทธิมนุษยชนชาติพันธุ์, มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา, มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย พะเยา World Vision Foundation Phayao, ศูนย์สังคมพัฒนาสังฆมณฑลเชียงใหม่ เขตพะเยา, ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน, มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท, มูลนิธิศุภนิตแห่งประเทศไทย, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ มูลนิธิภิวัฒน์สาธารณสุขไทย (ภวส.)

 
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น