xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายยุติความรุนแรงร่อนแถลงการณ์เปิดทาง “Sex Worker” เป็นอาชีพถูกกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาล กมธ.ร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดบทบัญญัติคุ้มครองความเท่าเทียมทางเพศ 6 ด้าน พร้อมเปิดทางให้ “Sex Worker” เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย

วันนี้ (25 พ.ย.) เครือข่ายรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงภาคเหนือ รวมตัวเดินขบวนรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง 25 พฤศจิกายน บริเวณลานหน้าอาคารกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100 คน

จากนั้นตัวแทนเครือข่ายประกาศแถลงการณ์ร่วมขององค์กรเครือข่าย 17 องค์กร เช่น ศูนย์สตรีศึกษา มช. มูลนิธิผู้หญิงกฎหมายและการพัฒนาชนบท ชมรมอาสาสมัครกฎหมายเพื่อผู้หญิง เป็นต้น เสนอต่อรัฐบาล และคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดบทบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันของบุคคลทุกเพศ และคุ้มครองผู้หญิงให้ปลอดภัยจากความรุนแรง

โดยจำแนกข้อเสนอแนะเป็น 6 ด้าน คือ ด้านผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมือง ให้จัดทำนโยบายและมาตรการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิให้เข้าถึงศักยภาพ สวัสดิการสังคม และบริการจากภาครัฐ และการพิสูจน์สถานะเพื่อได้รับสัญชาติ และให้ปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

ด้านแรงงานข้ามชาติ ให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติหญิง ในการเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ตลอดจนยุติการเลือกปฏิบัติต่อเด็กที่เป็นลูกของแรงงานข้ามชาติ

ด้านผู้หญิงทุกคนและทุกเพศสภาพที่ทำงานบริการ (Sex Worker) ให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อพนักงานบริการอันเนื่องมาจากอาชีพ และไม่ถือว่าเป็นอาชีพผิดกฎหมาย และยอมรับให้เป็นอาชีพภายใต้กฎหมายแรงงาน มีสวัสดิการ และมีอาชีวอนามัยในที่ทำงานให้แก่พนักงานบริการ

ด้านผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับ HIV ให้จัดระบบการบริการสุขภาพให้แก่ผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับ HIV ให้สามารถเข้าถึงการรักษา และมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพตนเอง และมีกระบวนการให้คำปรึกษา มีทางเลือกในการตัดสินใจด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของตนเอง

ด้านผู้หญิงพิการ ให้จัดระบบบริการตรวจสุขภาวะทางเพศ อนามัยเจริญพันธุ์ อย่างเหมาะสม และทั่วถึงให้แก่กลุ่มผู้หญิงพิการทุกประเภทความพิการ โดยเคารพในการตัดสินใจของผู้หญิงพิการ และมีระบบบริการข้อมูล รวมถึงระบบในการให้คำปรึกษาที่ละเอียดอ่อนด้านภาวะทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์อย่างรอบด้าน

ด้านผู้หญิงกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย ต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ (ฉบับประชาชน) เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปกลไกระดับชาติ เพื่อส่งเสริมสิทธิด้านต่างๆ เพื่อให้มีหลักประกันในการมีสถาบันระดับชาติที่ทำงานด้านการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศอย่างเป็นรูปธรรม







กำลังโหลดความคิดเห็น