xs
xsm
sm
md
lg

เครียด! กลุ่มแคดดี้-คนงานสนามกอล์ฟแม่เมาะวอนผู้ว่าฯ ช่วย เกรงตกงานหลังศาลสั่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ลำปาง - กลุ่มแคดดี้และคนสวนสนามกอล์ฟ กฟผ.รวมตัวยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ลำปาง หวั่นตกงานหาก กฟผ.รื้อสนามกอล์ฟตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้ปลูกป่าทดแทนขุมเหมือง

วันนี้ (16 ก.พ.) ที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง กลุ่มแคดดี้ และคนสวนภายในสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติ กฟผ.แม่เมาะ เกือบ 100 คนได้มารวมตัวกันที่สนามหญ้าหน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง นำโดยนางสุฟอง สุริยัง เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางให้ดูแล เพราะเกรงว่าจะตกงานหาก กฟผ.รื้อสนามกอล์ฟตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด

โดยในหนังสือได้ระบุว่า กลุ่มแคดดี้ กลุ่มทำความสะอาดอาคารสถานที่รอบสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ กลุ่มดูแลสนามหญ้าและตกแต่งต้นไม้รอบสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารและพนักงานร้านอาหาร ซึ่งมีเกือบ 600 คน เกรงจะเกิดความเดือดร้อนในเรื่องแหล่งทำมาหากิน หลังมีคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งกลุ่มของตนเองไม่มีความรู้ด้านกฎหมายและไม่ต้องการขัดคำสั่งของศาล แต่พวกตนขอเพียงที่ทำมาหากินและแหล่งท่องเที่ยวของชาวอำเภอแม่เมาะเท่านั้น

ซึ่งหากจะให้ปิดสนามกอล์ฟ และสวนพฤกษชาติจริงๆ จะทำให้พวกตนตกงาน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเสาหลักของครอบครัวต้องล้มลงแน่นอนเนื่องจากยังมีลูก-หลานที่กำลังเรียนหนังสือ พ่อแม่ที่แก่ชราต้องดูแล ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าทุกคนจะอยู่อย่างไร พวกตนอยากได้สนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติกลับคืนมา

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ทางจังหวัดหาทางช่วยเหลือแหล่งทำมาหากินและแหล่งท่องเที่ยวของพวกเราชาวอำเภอแม่เมาะให้กลับคืนมา และพวกตนไม่ต้องการค่าชดเชยใดๆ จาก กฟผ. แต่ต้องการเพียงแหล่งทำมาหากินเท่านั้น

นายวีระเดช สมวรรณ ปลัดจังหวัดลำปาง ได้ลงมารับหนังสือและบอกว่า ทางจังหวัดจะรับเรื่องและนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดให้และรับรองว่าทุกคนจะไม่ตกงานแน่นอน ซึ่งทุกคนก็พอใจและได้ยื่นหนังสือพร้อมกับเอกสารข้อมูลส่วนตัวของแต่ละคนที่ร่วมลงชื่อในครั้งนี้ให้ปลัดจังหวัดก่อนที่จะแยกย้ายกลับ

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม 5 เรื่อง ดังนี้

1. ให้อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ
2. ให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยการถมดินกลับในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ
3. มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากการปลูกและนำพืชที่ปลูกใน wetland ไปกำจัด เป็นการใช้ระบบ Anaerobic Bacteria
4. วางแผนจุดปล่อยดินโดยให้ตำแหน่งที่ปล่อยดินไม่อยู่ในตำแหน่งต้นลมที่พัดผ่านไปยังชุมชนที่อยู่โดยรอบ และกำหนดพื้นที่ Buffer Zone ระยะจุดปล่อยดินกับชุมชน ให้เป็นระยะทางไม่น้อยกว่า 50 เมตร และควรจัดทำเป็น Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่าความสูงของ Bunker
5. ให้จัดทำรายงานการตรวจประเมินสิ่งแวดล้อม (Environmental Audit) ทุก 2 ปี ทั้งนี้ ต้องให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับจากมีคำพิพากษา
กำลังโหลดความคิดเห็น