xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งเริ่มกระทบช้างป่า-กระทิงกุยบุรี ประสานหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงศูนย์หัวหินเพิ่มความชุ่มชื้นในป่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประจวบคีรีขันธ์ - สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี เตรียมวางแผนแก้ปัญหาภัยแล้งในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ประสานหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงศูนย์หัวหิน เพื่อทำฝนเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ หลังเกิดภัยแล้ง แปลงพืชอาหารสัตว์หลาย 100 ไร่ ประสบปัญหาส่งผลกระทบฝูงกระทิง โขลงช้าง รวมทั้งแหล่งน้ำตามแอ่งต่างๆ แห้ง

วันนี้ (11 ก.พ.) นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมากจาพระราชดำริ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากสภาพแปลงหญ้าที่ปลูกให้เป็นอาหารช้างป่า และกระทิงมีสภาพเหลืองแห้ง เนื่องจากไม่มีความชุ่มชื้น และไม่มีฝนตกลงมา

รวมไปถึงแอ่งน้ำตามจุดต่างๆ ในพื้นที่ซึ่งขุดเอาไว้ให้สัตว์ป่าก็แห้ง ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรีต้องนำรถบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ไปเติมตลอดเวลา ซึ่งเชื่อว่าอีก 2 เดือนข้างหน้าจะแล้งจัด จึงมีความเป็นห่วงจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งกระทิงฝูงใหญ่ประมาณ 70-100 ตัว ไม่ออกมาหากินในพื้นที่แปลง และโครงการพระราชดำริฯ รวมไปถึงวัวแดง 3 ตัว และโขลงช้างป่า เพราะหากพื้นที่อาหารน้อย ช้างป่าก็จะออกไปกินพืชไร่ของชาวบ้าน สร้างปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน

นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนนำเสนอเรื่องกระทิงผสมพันธุ์กับวัวแดงที่ออกลูกมาเป็นไฮบิส หรือลูกครึ่งด้วยว่า กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล มาถ่ายภาพได้เพียงครั้งเดียว ในปีที่เกิดกระทิงเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้น ก็ไม่พบเห็นอีกเลย จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้มีการวิจัย หรือได้รับการยืนยันจากนักวิชาการ หรือทางสัตวแพทย์แต่อย่างใด

“ขณะนี้ลูกไอบิสตัวนั้นก็น่าจะอายุ 1 ปีกว่าแล้ว และยังไม่มีการยืนยันแต่อย่างใด ซึ่งก็หากินอยู่กับฝูงกระทิงอยู๋ ส่วนในภาพที่นำเสนอนั้นก็เป็นภาพเก่า ดังนั้น วันนี้ผมจึงอยากให้ความสำคัญเรื่องปัญหาภัยแล้งในพื้นที่มากกว่า” นายประวัติศาสตร์ จันทร์เทพ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าว

ด้านนายสัตวแพทย์สาโรจน์ จันทร์ลาด สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงเรื่องกระทิงผสมพันธุ์กับวัวแดงที่ออกลูกมาเป็นไฮบิสว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพเก่าที่มหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายภาพไว้ได้ และรายงานให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติทราบเรื่องเมื่อประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งตนก็เห็นภาพเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ทางด้าน นายวัฒนา พรประเสริษฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวถึงปัญหาภัยแล้งว่า ในส่วนแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อุทยานแห่งกุยบุรีนั้นซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องใช้วิธีการบรรทุกน้ำจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ไปเติมตามกระทะน้ำในพื้นที่ที่กระจายอยู่โดยรอบอุทยานแห่งกุยบุรี ซึ่งปัจจุบันนี้ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ก็ดำเนืนการอยู่

“ส่วนแนวทางต่อไปหลังจากมีการย้ายฐานมาปฏิบัติการฝนหลวงที่หัวหิน เมื่อไหร่ก็จะทำเรื่องขอให้ทางศูนย์ฝนหลวงที่หัวหินมาช่วยบินทำฝนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และบริเวณแปลงพืชอาหารสัตว์ป่า อย่างน้อยก็จะทำให้เกิดความชุ่มชื้นบ้าง” นายวัฒนา พรประเสริษฐ ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น