xs
xsm
sm
md
lg

เร่งเติมน้ำ-ปรับแปลงหญ้าให้สัตว์ป่ากุยบุรี หลังประสบภัยแล้งก่อนกำหนด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี
ประจวบคีรีขันธ์ - เผยปีนี้ป่ากุยบุรีประสบวิกฤตภัยแล้งก่อนกำหนด ทำให้อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ร่วมกับเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี และชาวบ้านระดมกำลังกันในการปรับปรุงแปลงหญ้า แหล่งอาหารของสัตว์ป่า พร้อมทั้งเติมน้ำในบ่อน้ำธรรมชาติ และสร้างแหล่งน้ำเพิ่มให้แก่สัตว์ป่ากุยบุรี เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าออกมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และไม่ย้ายถิ่นไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกล่า

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี ร่วมกับเครือข่ายองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อำเภอกุยบุรี หน่วยเฉพาะกิจจงอางศึก กองกำลังสุรสีร์ ทหารพราน มูลนิธิช้างป่าบ้านพ่อ และชาวบ้านกุยบุรี ได้ร่วมกันวางแผนในการระดมเครื่องจักรอุปกรณ์ และกำลังคนกว่า 300 คน ในการคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้งให้แก่สัตว์ป่า เนื่องจากปีนี้พื้นที่อำเภอกุยบุรี ต้องประสบภัยแล้งก่อนกำหนด และคาดว่าจะแล้งยาวนานกว่าปีที่ผ่านมา

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี กล่าวว่า จากการสำรวจทั้งทางอากาศ และการสำรวจภาคพื้นดิน พบว่า พื้นที่กุยบุรีถือว่ากำลังประสบภัยแล้งอย่างหนัก จนส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร

ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้ความเดือดร้อนขยายวงกว้างออกไป ในเบื้องต้น จะมีการรวมพลังกันระดมรถบรรทุกน้ำเติมน้ำในบ่อน้ำต่างๆ สร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะต้องเร่งเติมน้ำอย่างน้อย 3 ล้านลิตรลงสู่บ่อน้ำทั้งหมด รวมทั้งจะต้องปรับปรุงแปลงหญ้า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของช้างป่า กระทิง วัวแดง ให้มีความอุดมสมบูรณ์

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าออกจากป่ามาสร้างความเดือดร้อนทำลายพืชผลทางการเกษตร อันจะนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า และป้องกันสัตว์ป่าอพยพย้ายถิ่นออกไปอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการถูกล่า ไม่ว่าจะเป็นการล่าช้างเอางา หรือการล่าลูกช้าง รวมทั้งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้แก่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของอุทยานแห่งชาติกุยบุรีด้วย

สำหรับการระดมกำลังในการแก้ปัญหาภัยแล้งให้แก่สัตว์ป่ากุยบุรีนี้ จะดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม และจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ป่ากุยบุรี มีประชากรช้างป่าประมาณ 230 ตัว กระทิงประมาณ 150 ตัว วัวแดงไม่ต่ำกว่า 10 ตัว นอกจากนี้ ยังมีเสือดำ เสือดาว เสือลายเมฆ อีกว่า 50 ตัว และมีสัตว์ป่าสงวนอาศัยอยู่อีกจำนวนหนี่งด้วย ไม่ว่าจะเป็น สมเสร็จ เก้งหม้อ เลียงผา และแมวลายหินอ่อน




กำลังโหลดความคิดเห็น