เชียงราย - รมว.คลัง ขึ้นเชียงราย เยี่ยมชมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตัวอย่าง พบเริ่มจากฉางข้าวกลางของหมู่บ้าน แก้ปัญหาชาวบ้านขายข้าวเขียวจนไม่มีข้าวกินเมื่อ 10 ปีก่อน วันนี้กลายเป็นสถาบันการเงินชุมชน สางหนี้สินคนในชุมชนได้เบ็ดเสร็จ แถมเตรียมตั้งโซลาร์เซลล์ทุกหลังคาประหยัดพลังงานด้วย
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมหมู่บ้านป่ายาง ม.2 ต.ศรีค้ำ อ.แม่จัน จ.เชียงราย หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด 2 ปีซ้อน และระดับภาคอีก 1 รางวัล สุดสัปดาห์นี้ โดยมี นายเกษม วงศ์สุภา กำนัน ต.ศรีค้ำ ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปถึงโครงการที่ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองให้อยู่รอดได้เป็นอย่างดี เช่น ธนาคารข้าว สถาบันการเงินชุมชน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โรงผลิตน้ำดื่ม ระบบชลประทาน การเกษตรปลอดสารพิษทุกครัวเรือน แปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ฯลฯ
นายเกษม กล่าวว่า หมู่บ้านป่ายาง มีประชากรประมาณ 180 หลังคาเรือน และเริ่มใช้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ 10 ปีก่อน เนื่องจากเห็นว่าสภาวะปัจจุบันเศรษฐกิจบีบคั้นให้ประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก จนบางคนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว บางครอบครัวไม่มีข้าวกิน เพราะต้องขายข้าวก่อนเก็บเกี่ยว หรือขายข้าวเขียว
ทางผู้นำ และชาวบ้านจึงหาทางออกด้วยการเริ่มตั้งยุ้งฉางประจำหมู่บ้าน นำข้าวไปรวมกันไว้ก่อน จากนั้นให้คนที่เดือดร้อนจากการไม่มีข้าวกินเพราะขายข้าวเขียวไปหมดแล้ว ได้กู้ยืมข้าวคิดดอกเบี้ยเป็นกิโลกรัม คือ กู้ไป 100 กิโลกรัม ก็คิดดอกเบี้ยเป็นข้าวในฤดูกาลถัดไป 20 กิโลกรัม ซึ่งได้ส่วนต่างจากจำนวนข้าว และข้าวที่แห้งกว่าเดิมเป็น 15% ด้วย จนสามารถช่วยเหลือปัญหาคนไม่มีข้าวกินในหมู่บ้านได้ ปัจจุบันปัญหาหมดไปอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้ข้าวในยุ้งมีกว่า 6 ตันและผันมาเป็นธนาคารข้าวประจำหมู่บ้านได้ในที่สุด โดยมีเงินหมุนเวียน จำนวน 120,000 บาทแล้ว
นายเกษม กล่าวอีกว่า จากนั้นไดัผันมาเป็นสถาบันการเงินชุมชนเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินและเพื่อเพิ่มผลผลิต เพราะชาวบ้านไม่มีขีดความสามารถไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เพราะต้องใช้โฉนดที่ดิน น.ส.3 ฯลฯ โดยสถาบันการเงินนี้ให้ชาวบ้านรวมตัวกันอย่างน้อย 5 คน กู้ยืมคิดดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี เมื่อได้เงินจากการผลิตก็นำไปฝากได้จึงแก้ปัญหาหนี้สิน และเงินทุนในหมู่บ้านได้
นอกจากนี้ เมื่อชาวบ้านมีพื้นที่ทางการเกษตรรวมกันอยู่กว่า 1,300 ไร่ จึงนำเงินทุนไปจัดระบบชลประทานโดยมีเครื่องสูบน้ำ จำนวน 2 เครื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาขาดน้ำในฤดูแล้ง ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูก ผลิตกล้อง โดยตั้งโรงสีข้าวกล้องในบริเวณวัด มีการทำปุ๋ยเองเพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน เพื่อให้ชาวบ้านมีสุขภาพดีไม่ต้องใช้จ่ายต่อการรักษาพยาบาล จึงให้ปลูกผักปลอดสารพิษทุกครัวเรือนเพื่อบริโภค เมื่อเหลือก็ขายกันภายในหมู่บ้านเพื่อความหลากหลาย และในอนาคตก็จัดทำโครงการขอการสนับสนุนติดตั้งพลังงานไฟฟ้าด้วยแผงโซลาร์เซลล์ในทุกครัวเรือน เพื่อประหยัดพลังงาน และลดค่าใช้จ่ายต่อไปด้วย
“เราสามารถวัดผลสำเร็จได้ 2 รูปแบบเพื่อให้เกิดความแน่นอนคือ ด้านวิชาการ ให้คนหนุ่มสาวที่จบปริญญาตรีในหมู่บ้านสำรวจทุกครัวเรือน เพื่อสอบถามข้อมูลเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้ คล้ายหาผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในหมู่บ้านเหมือนจีดีพีของประเทศ อีกทางหนึ่งดูจากความสุขภายในหมู่บ้านว่าคนมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ สุขภาพดีขึ้นหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งหากพบว่าดี ก็ถือว่า เป็นการคืนความสุขที่แท้จริง เพราะชาวบ้านสุขทั้งกายโดยไม่มีโรค สุขทั้งใจเพราะไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทั้งยังสามารถทำมาหากิน และพัฒนาผลผลิตของตัวเองเพื่อใช้ และจำหน่ายได้ด้วย” นายเกษม กล่าว
ทั้งนี้ หลังการรับฟังบรรยายสรุป และเยี่ยมชมชุมชนบ้านป่ายาง ที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด 2 ปีซ้อน (2556, 2557) และระดับภาคโดย ธ.ก.ส.อีก 1 ครั้งในปี 2556 นายสมหมาย ได้แสดงชื่นชมกิจกรรมของชาวบ้านเป็นอย่างมาก และจะนำแนวทางเหล่านี้ไปศึกษาเพื่อขยายผลต่อไปด้วย