ฉะเชิงเทรา-ผอ.ศูนย์วิจัยยางแปดริ้ว ขานรับนโยบายนายกฯ ตู่ ยันใช้ยางพาราทำถนน “อึด ทน ฝนตกไม่ลื่น” เผยใช้ถนนจริงทดสอบมานานกว่า 13 ปี ยังไม่เคยแตกร้าว พังชำรุดเสียหาย ระบุสามารถนำมาทำประโยชน์ได้มากมายสารพัด ทั้งพื้นสนามฟุตซอล จานรองแก้ว อิฐตัวหนอน ยางปูพื้นห้องน้ำกันลื่น ตลอดจนอุปกรณ์กีฬา รวมทั้งของเล่นเด็กได้อย่างครบวงจร
วันนี้ (12 ม.ค.) นายพิเชษฐ ไชยพานิชย์ ผอ.ศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ตั้งอยู่เลขที่ 99 ม.4 ต.ลาดกระทิง อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาล ซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะมีการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ในประเทศแทนการพึ่งพาตลาดส่งออก จนเกิดปัญหาภาวะยางพาราราคาตกต่ำ และเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้ว่า
จากการที่ทางศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ได้ทำการทดสอบด้วยการใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมกับยางแอสฟัลติกรับเบอร์ ในอัตราส่วน 5 เปอร์เซ็นต์ ก่อนนำมาเทลาดทำพื้นถนนบริเวณบนถนนสาย 3259 ฉะเชิงเทรา-วังน้ำเย็น ที่ด้านหน้าศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ระยะทางรวม 300 เมตร ตั้งแต่เมื่อปี 2545 มาจนถึงปัจจุบันนี้ พบว่า พื้นถนนที่ใช้ยางพาราในการทำการทดสอบนั้นยังไม่เคยชำรุดเสียหาย หรือแตกร้าวมาตลอดระยะเวลากว่า 13 ปีที่ผ่านมา ผิดไปจากพื้นถนนตรงจุดที่ไม่ได้ทำการผสมยางพารานั้น ได้มีการซ่อมแซมผ่านไปแล้วมากถึง 2 ครั้ง
และยังพบว่า พื้นถนนในส่วนที่ใช้ยางพารามาเป็นส่วนผสมนั้นยังมีคุณสมบัติในการยึดเกาะตัวกันได้ดีกว่าการใช้ยางแอสฟัลติกรับเบอร์ หรือยางมะตอยเทพื้นถนนเพียงอย่างเดียวอีกด้วย ตลอดจนพื้นถนนที่มีส่วนผสมของยางพารานั้นยังมีลักษณะที่นุ่มกว่า จึงช่วยให้ยางรถยนต์ที่วิ่งผ่านมาสัมผัสกับผิวถนนนั้นสามารถยึดเกาะถนนได้ดี จึงทำให้พื้นถนนไม่ลื่นในขณะที่มีฝนตกเปียกพื้นถนนอีกด้วย
นอกจากทางศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา จะนำยางพารามาใช้ในการทำถนนแล้ว ยางพารายังสามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกมากมาย ทั้งการนำมาทำเป็นพื้นสนามฟุตซอล ทำเป็นอิฐตัวหนอนปูฟุตปาธ ทำจานรองแก้ว ทำลูกโป่ง ทำเป็นของเด็กเล่นได้อย่างมากมาย รวมถึงเครื่องเล่นกีฬา เช่น กริปสำหรับไม้กอล์ฟ ทำแร็กเกตไม้เทนนิส ทำสันฝายเขื่อนทดน้ำ
ขณะเดียวกัน ขณะนี้ทางศูนย์วิจัยยางยังได้อยู่ระหว่างการทำวิจัยในการนำยางพารามาทำเป็นยางรองชั้นตึกสำหรับป้องกันแผ่นดินไหวอีกด้วย นอกจากนี้ ยังจะทำหมอนสำหรับใช้แทนไม้หมอนรางรถไฟ และทำขอบกันกระแทกสำหรับท่าเทียบเรือ
ซึ่งปัจจุบันนั้นจากผลงานการวิจัยในด้านต่างๆ ของศูนย์ฯ ยังได้รับความสนใจจากต่างประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะประเทศมาเลเซียนั้น รัฐบาลของมาเลเซียได้เข้ามาขอดูต้นแบบ และได้นำไปทำถนนในประเทศมาเลเซียแล้ว ขณะที่ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรนั้นได้นำมาใช้ทำพื้นถนนภายในหน่วยงานรวมกว่า 10 แห่งแล้วทั่วประเทศ อีกทั้งถนนภายในกรมวิชาการเกษตรเองนั้น ก็ลาดด้วยยางพาราผสมยางมะตอย