มุมมองด้านลบที่มีต่อคนเล่นเกมทั้งหลายหยั่งรากลึกมานานในสังคมไทย ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น หลายครั้งที่โยนความผิดให้กับเกม ล่าสุดเป็นประเด็นร้อน มีการเปรียบเทียบในโลกโซเชียล เป็นภาพแบ่งแยกเด็กติดเกมแทนเด็กไม่ดี ส่วนเด็กดีคือเด็กที่ไม่เล่นเกม ถึงเวลาหรือยัง ที่ต้องทำความเข้าใจภาพของเด็กเล่นเกมเสียใหม่!
แยกให้ออกระหว่าง ‘เด็กติดเกม’ กับ ‘เด็กเล่นเกม’!
กลายเป็นประเด็นดรามาบนโลกโซเชียล หลังเฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘โครงการดิจิตอลของเด็กดี’ จัดกิจกรรมอบรมค่ายสร้างสรรค์ ลดภาวะเสี่ยง 'เด็กติดจอ' เชิญชวนผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัย 7 - 12 ขวบ เข้าร่วมการอบรม และโพสต์ภาพประกอบแคมเปญที่มีแบ่งแยกลักษณะของ ‘เด็กติดเกม’ และ ‘เด็กดี’ ไว้อย่างชัดเจน
ฝั่งที่เป็นภาพเด็กติดเกม จะสะท้อนถึงผลเสียของการติดเกม ทั้งเกิดปัญหาด้านสุขภาพ เช่น การปวดคอ ปวดหลัง ส่งผลให้มีอุปนิสัยก้าวร้าว และอาจทำให้สายตามีปัญหาเพราะจ้องแต่จอคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต ส่วนฝั่งที่เป็นภาพเด็กดี แสดงสิ่งที่ตรงข้ามกับเด็กติดเกม คือ การเจริญเติบโตสมไว รู้หน้าที่ของตนเอง รู้จักแบ่งเวลา สุขภาพจิตดี และมีสัมพันธภาพที่ดีต่อสมาชิกในครอบครัว
ภาพดังกล่าวกลายเป็นประเด็นขึ้นมา เนื่องจากบรรดาคนเล่นเกมเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงที่ไม่เห็นด้วย ตำหนิผู้จัดกิจกรรมอบรมดังกล่าวว่า ไม่ควรโทษว่าเกมทำให้เด็กไม่ดี หรือการที่เด็กมีปัญหานั้นเกิดจากการเล่นเกมเพียงอย่างเดียว ควรมองให้รอบด้าน เพราะคนที่ได้ดีจากการเล่นเกมก็มีมากมาย บางคอมเมนต์บอกว่า มีความฝันที่อยากจะเป็น นักสร้างเกม นักทำแอนิเมชัน หรือนักแข่งเกม การที่เอาแต่เล่นเกมเป็นการศึกษาหาข้อมูล การที่เด็กติดเกมก็เป็นปัญหาจริง แต่ก็ควรมองไปถึงสภาพแวดล้อมว่ามีปัญหาหรือไม่ ไม่ใช่แค่เกมที่ทำให้มีปัญหา
บางส่วนยังได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นถึงภาพที่แฟนเพจดังกล่าวใช้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมว่า ในภาพใช้คำว่า ‘เด็กติดเกม’ ไม่ใช่คำว่า ‘เด็กเล่นเกม’ ซึ่งมีความหมายแตกต่าง และคนที่เล่นเกมก็ไม่น่าจะเดือดร้อน เด็กติดเกมจนเป็นปัญหาก็ต้องยอมรับว่ามีจริง ทั้งทำให้เสียสุขภาพ เสียการเรียน และส่งผลให้มีอุปนิสัยที่ก้าวร้าวรุนแรง บางคนยังแนะให้มีการเปลี่ยนภาพที่ใช้ประกอบกิจกรรม ใช้คำว่า ‘เด็กไม่ติดเกม’ แทนคำว่า ‘เด็กดี’ เพื่อแก้ปัญหาความเข้าใจที่ผิดพลาดบนโลกโซเชียล
ภายหลังแฟนเพจ ‘โครงการดิจิตอลของเด็กดี’ ได้มีการเปลี่ยนภาพที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์ และเพิ่มเติมข้อมูลว่า ทางโครงการสนับสนุนให้เด็กมีเป้าหมายและแบ่งเวลาในด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว ให้ผู้ปกครองและบุตรหลานเกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ย้ำว่าไม่ได้ต่อต้านการเล่มเกมแต่อย่างใด ทั้งหมดนี้คืออวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรม และขอน้อมรับคำแนะนำเรื่องการใช้สื่อประชาสัมพันธ์
อย่างไรก็ตาม การเล่นเกมก็ถือได้ว่าเป็นอีกทางที่สามารถพัฒนาทักษะหลายๆ ด้านของเด็กได้ ทั้งการฝึกการใช้ความคิด การแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการเสริมสร้างความจำและทำให้มีสมาธิ แต่สิ่งสำคัญคือ การเลือกเกมให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยของเด็ก และผู้ปกครองควรให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กเล่นเกมตามลำพัง ด้วยวุฒิภาวะที่ไม่เพียงพอ อาจทำให้เด็กเลือกเกมที่ไม่เหมาะสมได้ หรือหากมีเวลาว่างก็ใช้โอกาสนี้เล่นเกมกับบุตรหลาน ถือได้ว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง
‘เด็กติดเกม’ สร้างปัญหาก็เยอะ สร้างชื่อก็แยะ
ก่อนหน้านี้มีกรณีที่เป็นข่าวดังปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายครั้ง ถึงเรื่องผลของการติดเกมและใช้เกมเป็นแรงจูงใจในการก่อเหตุร้าย เคยมีเหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งหนึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศไทย มีเยาวชนชายอายุ 18 ปี ลวงโชเฟอร์แท็กซี่ไปฆ่าชิงทรัพย์ โดยอ้างว่าต้องการใช้เงิน แต่ที่น่าตกใจไปกว่านั้น เด็กหนุ่มสารภาพว่า ที่ตนตัดสินใจก่อเหตุ เพราะเห็นจากในเกม GTA ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ที่ตนได้เล่นเป็นประจำ เลยอยากลองทำดูบ้าง เพราะดูไม่ยากและคิดว่าได้เงินง่าย!
[ เยาวชนผู้ก่อเหตุและเกม GTA ]
หรือจะเป็นเหตุการณ์ปล้น จี้ชิงทรัพย์ หรือพยายามฆ่า ที่เกิดขึ้นในสังคม หลายครั้งผู้ก่อเหตุอ้างว่า ลงมือทำลงไปเพราะจะนำเงินไปเล่นเกม เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ จึงอาจทำให้เกิดอคติต่อผู้เล่นเกม และทำให้บางคนเข้าใจผิดว่า เกมเป็นต้นเหตุของปัญหาทุกอย่าง ซึ่งในความจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่นที่เป็นแรงจูงใจให้ก่อเหตุ เช่น สภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู ปัญหาครอบครัว ฯลฯ
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะใช้เกมเป็นแบบอย่างในการกระทำความผิด หนุ่ย - พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เจ้าของรายการ “แบไต๋ไอที” , โปรดิวเซอร์เกม “ต้มยำกุ้ง” และเป็นผู้รู้จริงด้านเทคโนโลยีทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมาตลอด 15 ปี เคยให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการ Live โดยเปิดเผยว่า ที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ เพราะอดีตเคยเป็น ‘เด็กติดเกม’ มาก่อน
“ผมเป็นคนที่เล่นเกมไหนต้องเคลียร์ให้จบ อย่างเกม Rock Man ที่ว่ายากที่สุดแล้ว ผมก็พยายามหาสูตรให้ได้ ตื่นมาเล่นตั้งแต่ 8 โมงเช้า เล่นจบเกมตอน 2 ทุ่ม แต่ต้องจบ เล่นจนมือเท้าชา ต้องเอาให้จบให้ได้ ซึ่งแม่ก็เห็นเป็นปัญหาเรื่องนี้ เลยออกกฎเหล็กว่าห้ามเล่นเกมวันจันทร์-ศุกร์ เราก็ทำตามนั้น
คนอาจจะมองว่าเด็กติดเกมไม่มีความก้าวหน้า แต่ผมว่ามันอยู่ที่การต่อยอดครับ จะทำอาชีพอะไรคุณต้องมีพื้นฐานอาชีพจากสิ่งที่คุณทำบ่อยๆ และคุณก็สนุกกับมัน อาชีพโปรแกรมเมอร์หรือนักสร้างเกม ย่อมต้องมาจากนักเล่นเกมเสมอเพราะถ้าไม่เล่นมาก่อน คุณจะไม่เข้าใจศาสตร์นี้”
[ หนุ่ย - พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ และเกม "ต้มยำกุ้ง" ]
ผู้คร่ำหวอดในวงการไอทียังเสริมอีกว่า บางทีเด็กไทยยังต่อยอดไม่เก่ง คืออาจจะเล่นเพื่อความบันเทิงน้อยคนนักที่จะคิดวว่าต้องเอาองค์ความรู้ตรงนี้ไปเรียนโปรแกรมหรือเอาไปคิดเกมใหม่ๆ อีกปัญหาหนึ่งก็คือโครงสร้างของระบบอุตสาหกรรมเกมไทยมันไม่ได้เอื้อกับการทำให้คนหนึ่งคนที่ชอบเกมมากๆ จะมีอาชีพที่สง่าผ่าเผยได้
ส่วนข้อเสียของการเล่นเกมมากเกินไปสำหรับเขา หนุ่ยบอกว่า เมื่อเราคุยกับคอมพิวเตอร์มากเกินไป ทำให้ขาดทักษะในการใช้ชีวิตที่ต้องเผชิญหน้ากันจริงๆ เพราะทุกอย่างพิมพ์ด้วยคอมพ์หมด พอจะอ้าปากพูด กลายเป็นพูดไม่ออก หรือพูดไม่รู้เรื่อง จึงเป็นจุดที่ต้องระวังเพราะการอยู่กับตัวเองมากเกินไป บางครั้งมันก็ทำให้เราขาดทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น
ทุกสิ่งในโลกล้วนมีทั้งด้านดีและไม่ดีปะปนกันไป อยู่ที่ว่าเราจะเลือกเอาด้านไหนมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต การเล่นเกมก็เช่นกัน หากแบ่งเวลาให้เหมาะสม เล่นในทางที่ถูกที่ควร และนำไปต่อยอด ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ตัวเราและสังคมได้ แต่หากนำไปใช้ในทางไม่ดี ผลเสียก็จะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรา สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้างและสังคมได้เช่นกัน
ข่าวโดย : ผู้จัดการ Live
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘โครงการดิจิตอลของเด็กดี’ และ gamenolimit.com
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"MGR Online Live" และ "@manager_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารมาได้ที่: manageronlinelive@gmail.com
หรือ Fax 0-2629-4754